แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีนด้วยการแบ่งบรรจุเป็นถุงย่อย ๆ ถุงละ 20 เม็ด 8 ถุง 10 เม็ด 5 ถุง 8 เม็ด 1 ถุง 4 เม็ด 1 ถุง 1 เม็ด 1 ถุง และมีอีก 10 เม็ด รวม 223 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 4.905 กรัม จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังว่า จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่ในถุงตามฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่า ไม่ได้แบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาดังกล่าวในศาลชั้นต้น เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยบัญญัติเพิ่มเติมให้มีวรรคสามและวรรคสี่ ซึ่งวุฒิสภาให้เหตุผลในการแก้ไขไว้ชัดเจนอันแสดงให้เห็นว่าเป็นการแก้ไขโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้มีบทความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุไว้เป็นกรณีเฉพาะ แยกต่างหากจากบทความผิดและบทลงโทษ ฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในกรณีทั่วไปตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ผลิตโดยการ เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูปสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์) ซึ่งมีสภาพแห่งความผิดเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมมากกว่าการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษ โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ยิ่งกว่านั้นยังได้บัญญัติแก้ไขใหม่ไว้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ มาตรา 65 วรรคสาม มุ่งใช้บังคับสำหรับการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่มีปริมาณไม่ถึงบทสันนิษฐานของมาตรา 15 วรรคสาม ส่วนวรรคสี่มุ่งใช้บังคับสำหรับการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุยาเสพติดที่มีปริมาณเกินบทสันนิษฐานตามมาตรา 15 วรรคสาม ส่วนการที่มาตรา 65 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย…” นั้น หมายถึง การกระทำความผิดฐานผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมไปถึงว่า จะต้องมีปริมาณไม่ถึงด้วยบทสันนิษฐานตามมาตรา 15 วรรคสาม ด้วยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายและต้องได้รับโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดตามมาตรา 65 วรรคใด เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2557)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน กระเป๋า และถุงพลาสติกของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 66 วรรคหนึ่ง วรรคสอง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษประหารชีวิต ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบ 52 (2) ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 27 ปี 6 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีน กระเป๋า 2 ใบ และถุงพลาสติก 144 ถุง ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้แบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่ในถุงพลาสติกใสตามฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเป็นถุงย่อย ๆ รวม 16 ถุง แยกบรรจุเป็นถุงละ 20 เม็ด 10 เม็ด 8 เม็ด 4 เม็ด และ 1 เม็ด รวมเป็นเมทแอมเฟตามีน 223 เม็ด จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่ในถุงพลาสติกใสตามฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยไม่ได้แบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่ในถุงพลาสติกใสตามฟ้องหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้แบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผลิตเมทแอมเฟตามีน มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุตามฟ้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ให้บทนิยามคำว่า “ผลิต” ให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย ซึ่งการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุนั้น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยบัญญัติเพิ่มเติมให้มีวรรคสามและวรรคสี่ ทั้งนี้ เหตุผลในการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวของวุฒิสภาแสดงไว้ชัดเจนว่า เป็นการเพิ่มเติมโทษความผิดฐานผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 กรณีไม่ถึงบทสันนิษฐานและเกินบทสันนิษฐานของกฎหมาย เพื่อความเหมาะสมกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดอันแสดงให้เห็นว่าเป็นการแก้ไขโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้มีบทความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุไว้เป็นกรณีเฉพาะแยกต่างหากจากบทความผิดและบทลงโทษในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในกรณีทั่วไปตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งมีสภาพแห่งความผิดเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมมากกว่าการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ยิ่งกว่านั้นการกำหนดเพิ่มเติมให้มีบทความผิดและบทลงโทษสำหรับความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุนี้ มีบัญญัติใช้เป็นสองกรณี คือ กรณีไม่ถึงบทสันนิษฐานและกรณีเกินบทสันนิษฐานของกฎหมาย อันหมายถึงกรณีกระทำความผิดโดยมีปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือจำนวนหน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่ถึงบทสันนิษฐาน และกรณีเกินบทสันนิษฐานของกฎหมายตามความในมาตรา 15 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นั่นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความที่บัญญัติในมาตรา 65 วรรคสามและวรรคสี่แล้ว บทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสาม มุ่งใช้บังคับสำหรับการกระทำความผิดที่ปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ถึงบทสันนิษฐานของกฎหมายมาตรา 15 วรรคสาม ส่วนบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสี่ มุ่งใช้บังคับสำหรับการกระทำความผิดที่ปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีเกินบทสันนิษฐานของกฎหมายมาตรา 15 วรรคสาม ส่วนการที่มาตรา 65 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย…” นั้น หมายถึง การกระทำความผิดฐานผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุนั้นจะต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ด้วย คดีนี้ จำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเป็นถุงย่อย ๆ รวม 16 ถุง แยกบรรจุเป็นถุงละ 20 เม็ด 10 เม็ด 8 เม็ด 4 เม็ด และ 1 เม็ด รวมได้เมทแอมเฟตามีน 223 เม็ด มีน้ำหนัก 19.915 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 4.905 กรัม ดังนี้ เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยผลิตโดยการแบ่งบรรจุดังกล่าวจึงมีปริมาณต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ให้ถือว่าจำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายแต่ปรับบทลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แม้จำเลยมิได้ฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และสมควรกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสี่ ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายเพียงบทเดียว จำคุก 14 ปี และปรับ 800,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท รวมกับโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 9 ปี 6 เดือน และปรับ 400,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์