แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยผู้ว่าจ้างเป็นผู้เสนอขอยกเลิกข้อกำหนดเดิมในสัญญา โดยเสนอขอเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างใหม่ ทำให้สัญญาในส่วนที่จะทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างใหม่ยังไม่เกิด เพราะคู่สัญญายังไม่สามารถหาข้อยุติและยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับเรื่องการยืดเวลาการก่อสร้าง และนับแต่วันที่จำเลยขอเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างงานเฉพาะในส่วนที่จะทำการเปลี่ยนแปลง โจทก์ผู้รับจ้างต้องหยุดทำการก่อสร้าง เนื่องจากต้องรอดูผลจากจำเลยว่าจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงหรือไม่ งานในงวดที่ 4 และงวดสุดท้ายจึงไม่จำต้องผูกพันตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างเดิม การที่จำเลยใช้สิทธิปรับโจทก์ตามเงื่อนเวลาในสัญญาฉบับเดิมจึงไม่ถูกต้อง โจทก์มีเหตุผลในการส่งมอบงานล่าช้าซึ่งมิใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์มิได้ผิดสัญญาจำเลยจึงไม่มีสิทธิปรับและหักเงินค่าจ้างโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารห้องสมุดแบบพิเศษจำนวน1 หลัง ให้จำเลย โดยจำเลยสัญญาว่าจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ 5 งวด งวดที่ 1 ถึงที่ 4จ่ายภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2535 และงวดสุดท้ายจ่ายภายในวันที่ 26 มีนาคม 2536โจทก์ดำเนินการก่อสร้างอาคารห้องสมุดแบบพิเศษดังกล่าวโดยส่งมอบงานให้จำเลยตรวจรับและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์แล้ว 3 งวด ต่อมาจำเลยขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบรูปรายการก่อสร้างใหม่ โดยขอเปลี่ยนฝาผนังทึบส่วนมุมทั้งสี่ด้านเป็นกระจกใสกรอบอะลูมิเนียม และเปลี่ยนวัสดุปูผิวพื้นพร้อมบัวเชิงผนัง โจทก์เห็นว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบรูปและรายการใหม่ ทำให้ปริมาณงานเพิ่มขึ้นและใช้เวลายาวนานกว่ากำหนดที่ตกลงกัน จึงขอขยายเวลาการก่อสร้างออกไปจากที่กำหนดไว้เดิมอีก 200 วัน โดยไม่คิดเงินเพิ่ม ระหว่างเจรจาทำความตกลงกับจำเลยเรื่องเวลาในการก่อสร้างใหม่และยังไม่ได้ลงนามในสัญญาส่วนที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เรียบร้อย โจทก์ได้หยุดก่อสร้างเพื่อรอการอนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการจากจำเลย จำเลยอนุมัติให้ขยายเวลาได้ 49 วัน โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยยืนยันขอขยายเวลาก่อสร้าง 200 วัน จึงจะสามารถทำงานได้จำเลยกลับมีหนังสือเร่งรัดให้โจทก์ก่อสร้างอาคารตามแบบรูปรายการที่แก้ไขใหม่ให้เสร็จโจทก์จึงได้เร่งทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและให้จำเลยเข้าครอบครองใช้อาคาร ในวันที่27 กันยายน 2536 โจทก์ได้ลงนามสัญญาบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างในส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างใหม่กับจำเลยและได้ส่งมอบงานในงวดที่ 4 กับงวดสุดท้ายให้จำเลยตรวจรับไว้ แต่จำเลยคิดค่าปรับโจทก์ อ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าโดยนำค่าปรับหักจากเงินค่าจ้าง โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาการส่งมอบงานล่าช้าเกิดจากความผิดของจำเลยฝ่ายเดียวจำเลยไม่มีสิทธิปรับและหักค่าจ้างโจทก์ จึงต้องชำระค่าจ้างที่หักไว้คืนแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,102,183 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,056,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงฝาผนังทึบส่วนมุมทั้งสี่ด้านเป็นกระจกใสกรอบอะลูมิเนียม และเปลี่ยนวัสดุปูผิวพื้นจากปูกระเบื้องยางมาเป็นผิวพื้นหินขัดเบอร์ 2-3 พร้อมบัวเชิงผนังนั้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณงานและเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารแต่อย่างใด โจทก์สามารถทำงานต่อเนื่องกันได้ไม่จำเป็นต้องหยุดงาน ยิ่งเป็นความสะดวกและใช้เวลาทำงานน้อยกว่าเดิม ทั้งจำเลยยังอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างแก่โจทก์ถึง 49 วัน โจทก์กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปไม่เร่งทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างจึงเป็นความผิดของโจทก์เอง การที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้า จำเลยจึงมีสิทธิปรับโจทก์ตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 703,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2536 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และคืนเงินจำนวน 9,900 บาท ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างที่หักไว้จำนวน1,056,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวน 1,038,000บาท นับจากวันที่ 29 กันยายน 2536 และคิดจากเงินจำนวน 18,000 บาท นับจากวันที่ 6 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารห้องสมุดแบบพิเศษโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ระหว่างโจทก์และจำเลยกำหนดให้โจทก์ทำงานเป็น5 งวด งวดสุดท้ายกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2536 โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยแล้ว 3 งวด ระหว่างการทำงานงวดที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศขอเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้าง 3 รายการ โจทก์ยอมเปลี่ยนแปลงรายการตามเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเสนอเรื่องให้จำเลยทราบเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงตามขั้นตอนของระเบียบราชการ จำเลยอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้าง 2 รายการโดยไม่ต้องขยายเวลาก่อสร้างและไม่ต้องคิดเงินเพิ่มตามหนังสือของจำเลยเอกสารหมาย ล.4 แต่โจทก์ขอขยายเวลาก่อสร้างออกไป 200 วัน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงให้โยธาธิการจังหวัดตรวจสอบโยธาธิการจังหวัดทำความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าวทำให้ปริมาณงานเพิ่มขึ้น ควรขยายเวลาเพิ่มขึ้น 90 วันผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชรายงานให้จำเลยทราบ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2536จำเลยอนุมัติให้ขยายเวลาได้ 49 วัน โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 4 ให้จำเลยเมื่อวันที่ 27กันยายน 2536 และส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2536 ซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างแล้ว จำเลยจึงปรับโจทก์เพราะส่งมอบงานล่าช้าวันละ6,000 บาท เป็นเวลา 173 วัน สำหรับการส่งมอบงานงวดที่ 4 และปรับเป็นเวลา 3 วันสำหรับงานงวดสุดท้ายโดยหักจากค่าจ้างแต่ละงวด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิปรับและหักเงินค่าจ้างโจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาจ้างข้อ 19 ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะทำการแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือลดงานจากแบบรูปและรายการรายละเอียดตามสัญญาได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องเลิกสัญญานี้ การเพิ่มเติมหรือลดงานจะต้องคิดและตกลงราคากันใหม่และถ้าต้องเพิ่มหรือลดงานหรือยึดเวลาออกไปอีกจะได้ตกลงกัน ณ บัดนั้น” เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าการที่จำเลยขอเปลี่ยนแบบรูปการก่อสร้างไม่ต้องคิดเงินเพิ่มและไม่ต้องขยายเวลาการก่อสร้าง ย่อมมีผลบังคับได้เป็นข้อสัญญาที่เกิดขึ้นใหม่ของคู่สัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะยังมิได้มีการทำเป็นหนังสือสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเดิมก็ตามก็ถือว่าเป็นสัญญาตามกฎหมายแล้ว เพราะสัญญาจ้างทำขอนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดว่าจะต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใดนั้นเห็นว่าในการเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างใหม่นั้นเป็นความประสงค์ของจำเลยในฐานะผู้ว่าจ้าง ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับจ้างก็ยินยอมเปลี่ยนแปลงรายการตามแบบที่แก้ไขใหม่ แต่เนื่องจากเมื่อเปลี่ยนแปลงแบบรูปแล้วทำให้ปริมาณงานเพิ่มมากขึ้นจากเดิม โจทก์จึงจำเป็นต้องขอขยายเวลาการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างข้อ 19 และขั้นตอนในการขอแก้ไขจนกว่าจะได้รับอนุมัติจากจำเลยทำให้ระยะเวลาการทำงานต้องหยุดรอและเสียเปล่าโดยมิใช่ความผิดของโจทก์ซึ่งนับระยะเวลาตั้งแต่ขอเปลี่ยนแปลงจนถึงวันที่จำเลยอนุมัติรวม 61 วัน โจทก์ไม่อาจทำการก่อสร้างในส่วนงานที่ขอเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การที่โจทก์หยุดรอไม่ก่อสร้างในส่วนงานดังกล่าวจึงมิใช่ความผิดของโจทก์ เมื่อฝ่ายจำเลยเป็นผู้เสนอขอยกเลิกข้อกำหนดเดิมในสัญญา โดยเสนอขอเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างใหม่ทำให้สัญญาในส่วนที่จะทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างใหม่ยังไม่เกิดเพราะคู่สัญญายังไม่สามารถหาข้อยุติและยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับเรื่องการยืดเวลาการก่อสร้าง แต่ยังคงอยู่ระหว่างพิจารณาของโจทก์และจำเลยนับแต่วันที่จำเลยขอเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างงานเฉพาะในส่วนที่จะทำการเปลี่ยนแปลง โจทก์ต้องหยุดทำการก่อสร้าง อีกทั้งโจทก์กับจำเลยก็ยังมิได้ลงนามในสัญญาส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด โดยจำเลยเป็นฝ่ายขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบรูปรายการก่อสร้างใหม่ งานในงวดที่ 4 และงวดสุดท้ายจึงไม่จำต้องผูกพันตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง เมื่อโจทก์มิได้ผิดสัญญาจำเลยจึงไม่มีสิทธินำสัญญาข้อดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิปรับและหักเงินค่าจ้างโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิปรับและหักเงินค่าจ้างโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน