แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด แต่ในตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ตามหมายขังของศาลชั้นต้นซึ่งพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคำฟ้องโดยไม่คำนึงว่าคำร้องขอฝากขังเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ เมื่อปรากฏในสำนวนคำร้องขอฝากขังซึ่งติดอยู่ตอนหน้าของสำนวนระบุสถานที่เกิดเหตุไว้แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2538 เวลากลางวัน วันเดือนใดไม่ปรากฏชัดจำเลยกระทำอนาจารแก่เด็กหญิงธิดารัตน์ ทศดารา ผู้เสียหาย อายุ 12 ปี ซึ่งยังไม่เกิน 15 ปีโดยโอบกอดตัวผู้เสียหายจูบแก้ม จับนมและอวัยวะเพศ โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หลังจากนั้นในปี 2538 เวลากลางวัน วันเดือนใดไม่ปรากฏชัดจำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหาย โดยจับตัวจับแขน กอดและจูบแก้ม โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2539เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหาย โดยนอนกอด จูบและจับตัวผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และวันที่ 4ตุลาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหาย โดยจับขาถอดกางเกงนอนและกางเกงชั้นในออก แล้วยกขาขึ้นพาดบ่าใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ1 ปี รวมจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) บัญญัติให้ฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แม้คำฟ้องคดีนี้ไม่ได้ระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดก็ตาม แต่ในตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ตามหมายขังของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.12/2540 ซึ่งพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคำฟ้องโดยไม่คำนึงว่าคำร้องขอฝากขังเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.17/2540 ซึ่งติดอยู่ตอนหน้าของสำนวนคดีนี้นั้น ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอเกาะกูดที่ขอฝากขังจำเลยในขณะที่เป็นผู้ต้องหาได้ระบุสถานที่เกิดเหตุว่า เหตุเกิดที่โรงครัววัดอ่าวพร้าว เลขที่ 70 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะกูด กิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด จำเลยได้รับสำเนาคำร้องฉบับดังกล่าวแล้วก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้าน และในวันเดียวกันจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 มกราคม 2540 ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนก็ระบุว่ามูลคดีนี้มีเบื้องหลังเกิดจากกระบวนการกลั่นแกล้งของผู้มีอิทธิพลเกี่ยวกับผลประโยชน์ในเขตใกล้เคียงกับวัดอ่าวพร้าวซึ่งจำเลยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนี้ จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยย่อมจะเข้าใจได้ว่าเหตุคดีนี้เกิดที่ใดดังนี้ คำฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยถึงกระทงละ 1 ปี นั้น เห็นว่าหนักเกินไป สมควรกำหนดโทษจำคุกแต่ละกระทงเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทงเป็นจำคุก 24 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1