คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าจองห้องพักโรงแรมให้จำเลยไปแล้ว ต่อมาโจทก์บอกเลิกการจองห้องพักให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันตามวิธีปฏิบัติของธุรกิจโรงแรมเกี่ยวกับการบอกเลิกการเข้าพักซึ่งจำเลยจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมคืนเงินให้ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงว่าห้องพักแต่ละห้องราคาเท่าใด ค่าอาหารและค่าจัดเลี้ยงมีราคาเท่าใดก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมไม่
โจทก์ทำคำเสนอขอจองห้องพักไปถึงจำเลยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2534 จำเลยทำคำสนองตอบรับการจองห้องพักในวันเดียวกัน สัญญาจึงเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2534 ไม่ใช่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าห้องพักให้จำเลย ส่วนวันที่ 6 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2535เป็นระยะเวลาเข้าพัก แต่ในวันที่สัญญาเกิดโจทก์ไม่ได้ชำระเงินแก่จำเลยเพิ่งจะโอนเงินงวดแรกให้จำเลยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 งวดที่สองเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน2534 ส่วนอีกร้อยละ 30 จะชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการพัก ดังนั้น เงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยภายหลังจากวันที่สัญญาจองห้องพักเกิดขึ้นแล้วจึงไม่ใช่มัดจำที่จำเลยจะพึงริบเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) เพราะไม่ใช่เงินหรือสิ่งใดที่โจทก์ให้จำเลยไว้ในวันเข้าทำสัญญา ทั้งไม่ใช่หลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาตามมาตรา 377 หากแต่เป็นเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยเป็นงวด ๆ ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกการจองห้องพักซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาโจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 วรรคแรก จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์
โจทก์บอกเลิกการจองห้องพักอันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่สัญญาเลิกกันเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก ในเรื่องการคืนเงินอันเกิดจากการเลิกสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี เรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 419 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะขณะจำเลยรับเงินค่าห้องพักเป็นการรับไว้โดยชอบ มิใช่เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างกฎหมายได้
โจทก์ชำระเงินค่าจองห้องพักให้แก่จำเลย เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทันทีเพราะเงินเป็นสังกมทรัพย์ เมื่อจำเลยได้รับเงินไว้เกิน 5 ปี แล้ว ต่อมาโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดเกิดขึ้นใหม่ในอันที่จะต้องคืนค่าห้องพักที่รับไว้ให้แก่โจทก์ แต่ไม่จำต้องคืนเป็นเงินอันเดียวกับเงินที่โจทก์ชำระไว้ คงคืนให้ตามจำนวนที่จะต้องคืน กรณีจึงมิใช่จำเลยครอบครองปรปักษ์เงินค่าห้องพักที่รับไว้ จำเลยจะอ้างมาปัดความรับผิดในการชำระเงินคืนหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายปี 2534 โจทก์เป็นตัวแทนจัดหาสถานที่สัมมนาให้แก่สควิบบ์ กรุ๊ฟ โดยโจทก์ได้ติดต่อจองห้องพักของจำเลยที่โรงแรมโรแยลคลีฟ บีช รีสอร์ทประเทศไทย ให้ลูกค้าโจทก์กลุ่มดังกล่าวเข้าพัก 350 คน ระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2535ถึงวันที่ 12 มกราคม 2535 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ชำระเงินค่าห้องพักให้แก่จำเลย 288,768.26 ฟรังก์ฝรั่งเศส และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ชำระอีก488,250 ฟรังก์ฝรั่งเศส รวมเป็นเงินค่าห้องพักที่โจทก์ชำระ 777,018.26 ฟรังก์ฝรั่งเศสคิดเป็นเงินไทย 6,216,146 บาท ครั้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534 โจทก์มีหนังสือแจ้งยกเลิกการสัมมนาและบอกเลิกการจองห้องพักให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนถึงวันเข้าพักตามวิธีปฏิบัติของธุรกิจโรงแรมเกี่ยวกับการบอกเลิกการเข้าพักโดยโจทก์ยอมให้จำเลยหักค่าเสียหาย 17,500 ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือคิดเป็นเงินไทย 140,000บาท คงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องคืนโจทก์ 759,518.26 ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือคิดเป็นเงินไทยจำนวน 6,076,146 บาท แต่จำเลยไม่คืน ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2534 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,044,337.6 ฟรังก์ฝรั่งเศสหรือคิดเป็นเงินไทย 8,354,700.80 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 1,044,377.6 ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือคิดเป็นเงินไทย 8,354,700.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 759,518.26 ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือคิดเป็นเงินไทย 6,076,146 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จองห้องพักราคาห้องละเท่าไร เป็นเงินมัดจำเท่าไร จำเลยตกลงตามที่โจทก์ให้หักเงินหรือไม่ จำเลยต้องคืนเงินให้โจทก์โดยอาศัยกฎระเบียบ กฎหมายใดและวิธีปฏิบัติของธุรกิจโรงแรมการบอกเลิกการเข้าพักเป็นอย่างไรจำเลยต้องผูกพันหรือไม่ จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม เงินที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยเป็นเงินมัดจำมิใช่เงินชำระค่าจองห้องพัก จำเลยจัดเตรียมห้องพักและอาหารให้แก่ลูกค้าโจทก์เรียบร้อยแล้ว และการขายห้องพักให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต้องติดต่อล่วงหน้า 6 เดือน ถึง 1 ปี การบอกเลิกการจองห้องพักของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะจำเลยไม่อาจติดต่อนักท่องเที่ยวเข้าพักแทนได้ทัน จำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ให้บอกเลิกการเข้าพักล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยไม่ผูกพันต้องปฏิบัติตามระเบียบวิธีของธุรกิจโรงแรม โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ โจทก์ทราบว่ามีสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2535ถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยครอบครองเงินดังกล่าวเพื่อตนเองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 5 ปีแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,885,433.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อประมาณปลายปี 2534 โจทก์ติดต่อจองห้องพักโรงแรมโรแยลคลีฟ บีช รีสอร์ท ของจำเลยให้แก่ลูกค้าของโจทก์ชื่อ สควิบบ์ กรุ๊ฟ เข้าพักระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 12มกราคม 2535 จำนวน 350 คน โจทก์ชำระค่าจองห้องพักแก่จำเลยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 เป็นเงิน 288,768.26 ฟรังก์ฝรั่งเศส และชำระในวันที่ 28 พฤศจิกายน2534 อีก 488,250 ฟรังก์ฝรั่งเศส รวมเป็นเงินค่าจองห้องพัก 777,018.26 ฟรังก์ฝรั่งเศสครั้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534 โจทก์บอกเลิกการจองห้องพักให้จำเลยทราบ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ติดต่อจองห้องพักของจำเลยที่โรงแรมโรแยลคลีฟ บีช รีสอร์ท ประเทศไทยเป็นห้องสุพีเรีย 200 ห้อง ห้องสูทเล็กเตียงเดี่ยว 120 ห้อง ห้องสูทใหญ่ 1 ห้อง ซึ่งจะเข้าพักในวันที่ 6 ถึง 10 มกราคม 2535 และจองห้องสุพีเรียต่อไปอีกในวันที่ 10 ถึง 12 มกราคม 2535 จำนวน 80 ห้อง ในจำนวนผู้เข้าพักทั้งหมด 350 คน ต่อมาเมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2534 โจทก์ชำระเงินเพื่อจองห้องพักให้แก่จำเลย 288,768.26 ฟรังก์ฝรั่งเศสและวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ชำระอีก 488,250 ฟรังก์ฝรั่งเศส รวมเป็นเงินค่าจองห้องพัก 777,018.26 ฟรังก์ฝรั่งเศส คิดเป็นเงินไทย 6,216,146 บาท ครั้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2534 โจทก์มีหนังสือยกเลิกการสัมมนาและบอกเลิกการจองห้องพักให้จำเลยทราบล่วงหน้าตามวิธีปฏิบัติของธุรกิจโรงแรมเกี่ยวกับการบอกเลิกการเข้าพัก โดยโจทก์ยอมให้จำเลยหักค่าเสียหาย 17,500 ฟรังก์ฝรั่งเศส คิดเป็นเงินไทย 140,000 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องคืน 759,518.26 ฟรังก์ฝรั่งเศส คิดเป็นเงินไทย 6,076,146 บาท แต่จำเลยไม่คืนโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่2 ธันวาคม 2534 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,044,337.6 ฟรังก์ฝรั่งเศสขอให้บังคับจำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นกล่าวคือ สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันเป็นสิทธิของโจทก์ในการเรียกเงินคืนก็คือ โจทก์ได้ชำระเงินค่าจองห้องพักให้จำเลยไปแล้ว แต่โจทก์บอกเลิกการจองห้องพักให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันตามวิธีปฏิบัติของธุรกิจโรงแรมเกี่ยวกับการบอกเลิกการเข้าพักซึ่งจำเลยจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมคืนเงินให้ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงห้องพักแต่ละห้องราคาเท่าใด ค่าอาหารและค่าจัดเลี้ยงมีราคาเท่าใดก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทำคำเสนอขอจองห้องพักไปถึงจำเลยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2534 โดยมีข้อเสนอจะชำระเงินให้แก่จำเลยในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 เป็นเงินร้อยละ 25ของราคาทั้งหมดและจะชำระอีกในวันที่ 5 ธันวาคม 2534 เป็นเงินร้อยละ 45 ของยอดที่เหลือ ส่วนที่เหลือจะชำระให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการพักตามโทรสารเอกสารหมาย จ.6 ในวันที่ 25 ตุลาคม 2534 จำเลยทำคำสนองตอบรับการจองห้องพักและเงื่อนไขการแบ่งชำระค่าห้องพักจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 สัญญาจองห้องพักจึงเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2534 ไม่ใช่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าห้องพักให้จำเลย ส่วนวันที่6 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2535 เป็นระยะเวลาเข้าพักในห้องพักที่จองไว้ แต่ในวันที่สัญญาเกิดซึ่งถือว่าเป็นวันที่ทำสัญญาโจทก์ไม่ได้ชำระเงินหรือสิ่งใดแก่จำเลยไว้จนกระทั่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 จำเลยจึงทวงเงินค่าห้องพักงวดแรกตามโทรสารเอกสารหมาย จ.21 โจทก์เพิ่งจะโอนเงินงวดแรกให้จำเลยเป็นเงิน 288,768.26 ฟรังก์ฝรั่งเศส ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 ตามเอกสารการโอนเงินหมาย จ.7 และโอนเงินในงวดที่สองให้จำเลยเป็นเงิน 488,250 ฟรังก์ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ตามเอกสารการโอนเงินหมาย จ.9 ส่วนอีกร้อยละ 30 จะชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการพัก ดังนั้นเงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยภายหลังจากวันที่สัญญาจองห้องพักเกิดขึ้นแล้วจึงไม่ใช่มัดจำที่จำเลยจะพึงริบเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) เพราะไม่ใช่เงินหรือสิ่งใดที่โจทก์ให้จำเลยไว้ในวันเข้าทำสัญญา ทั้งไม่ใช่หลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 หากแต่เป็นเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยเป็นงวด ๆ ตามข้อตกลงในสัญญาเมื่อโจทก์บอกเลิกการจองห้องพักซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรกจำเลยต้องคืนเงินให้โจทก์ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้รับความเสียหายจากการบอกเลิกการจองห้องพักเป็นเงิน 4,182,584 บาท นั้น จำเลยมี นางพงา วรรธนะกุล กรรมการผู้จัดการจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจองห้องพักจำเลยนำห้องพักออกให้ผู้อื่นเข้าพักได้เพียงบางส่วน เช่นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2535 โจทก์จองไว้ 306 ห้อง จำเลยนำออกให้บุคคลอื่นพักเหลือห้องพัก 279 ห้อง ตามเอกสารหมาย ล.2 แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าห้องพักของจำเลยทั้งหมดมีกี่ห้องเมื่อโจทก์จองห้องพักจากจำเลยแล้วมีผู้อื่นมาขอจองห้องพักทำให้จำเลยไม่สามารถนำออกให้จองได้อีกเป็นจำนวนกี่ห้อง ทั้งห้องพักของจำเลยใช่ว่าจะมีผู้เข้ามาพักเต็มทุกห้องและทุกวันเสมอไป น่าจะมีห้องว่างที่ผู้อื่นอาจเข้าพักได้บ้าง ส่วนค่าอาหารและบริการที่จำเลยขอคิดร้อยละ 50 ตามเอกสารหมาย ล.2 นั้น โจทก์บอกเลิกการจองล่วงหน้าเป็นเวลาถึงสามสิบวันย่อมไม่อาจเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าจำเลยจะเตรียมอาหารและบริการไว้เป็นเวลานานถึงขนาดนั้น ถ้าหากจำเลยเตรียมไว้จริงวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารยังนำไปใช้ได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยเป็นเงินทั้งหมด 1,650,000 บาท นั้นเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีก

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกการจองอันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามโทรสารเอกสารหมาย จ.11 โจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2534 อันเป็นวันที่สัญญาเลิกกันเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก ในเรื่องการคืนเงินอันเกิดจากการเลิกสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความ 10 ปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี เรื่องลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 มาใช้บังคับไม่ได้เพราะขณะจำเลยรับเงินค่าห้องพักเป็นการรับไว้โดยชอบ มิใช่เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างกฎหมายได้ คดีนี้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2534 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยครอบครองเงินค่าห้องพักมาเกิน 5 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์ชำระเงินค่าจองห้องพักให้แก่จำเลยเงินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทันทีเพราะเงินเป็นสังกมทรัพย์ แต่หลังจากโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยมีหน้าที่และความรับผิดเกิดขึ้นใหม่ในอันที่จะต้องคืนค่าห้องพักที่รับไว้ให้แก่โจทก์ แต่ไม่จำต้องคืนเป็นเงินอันเดียวกับเงินที่โจทก์ชำระไว้คงคืนให้ตามจำนวนที่จะต้องคืนจำเลยจะอ้างเรื่องการครอบครองปรปักษ์เงินค่าห้องพักที่รับไว้มาปัดความรับผิดที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระคืนหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share