คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยมีสาระสำคัญว่า ให้จำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมจดถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุน เพราะไม่ใช่สัญญาหมั้น จึงไม่อาจบังคับได้ คดีไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานกันต่อไป
ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1439 ถ้าฝ่ายใด ผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน ฉะนั้นการตกลงจะสมรสโดย ไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรองไว้ และจะนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยนิติกรรมมาใช้ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ได้ เพราะบทบัญญัติว่าด้วยการหมั้นและการสมรส ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ โดยเฉพาะแล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วสั่งว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยอ้างอาศัยสัญญาอันมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อกฎหมาย ทั้งมิใช่สัญญาหมั้น จึงไม่อาจบังคับกันได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาว่า เหตุที่จำเลยจะทำสัญญาฉบับพิพาทกับโจทก์ก็เนื่องจากจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยบุกรุกเข้าไปในบ้านและทำมิดีมิร้ายต่อโจทก์ จำเลยเกรงว่าอาจจะได้รับโทษทางอาญา จำเลยกับโจทก์จึงได้ทำสัญญากันขึ้นตามสำเนาท้ายฟ้องด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยมิได้ฟังพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์คือให้โจทก์ได้สืบพยานก่อนนั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลนั้น ศาลไม่จำเป็นต้องสืบพยานทุกคดีไปหากศาลเห็นว่ารูปคดีพอวินิจฉัยได้โดยจำต้องสืบพยานก่อนแล้ว ศาลก็มีอำนาจสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยคดีไปได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใด สำหรับคดีนี้สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยมีสาระสำคัญว่า ให้จำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมจดถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุนเพราะไม่ใช่สัญญาหมั้นจึงไม่อาจบังคับได้ คดีจึงไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานกันต่อไปดังที่โจทก์ฎีกาขึ้นมา และที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 มาปรับแก่คดีไม่ถูกต้องเพราะตามเจตนาของคู่กรณีสัญญานี้สามารถแบ่งแยกได้เป็นส่วน ๆ ส่วนใดที่ไม่สมบูรณ์ก็เป็นโมฆะไป ส่วนใดที่สมบูรณ์ก็บังคับได้โดยสมบูรณ์ในฐานะที่เป็นนิติกรรมอย่างอื่น สัญญาท้ายฟ้องในเรื่องค่าเสียหายเป็นสัญญาที่สมบูรณ์และบังคับกันได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การเรียกค่าทดแทนเนื่องจากผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 1439 แล้วความว่า เมื่อมีการหมั้น ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นฝ่ายนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนและไม่มีมาตราใดบัญญัติว่าในกรณีที่ไม่มีการหมั้น หากฝ่ายใดผิดสัญญาสมรสให้ฝ่ายนั้นรับผิดใช้ ค่าทดแทนอย่างเช่นกรณีการหมั้น ฉะนั้น การตกลงจะสมรสโดยไม่มีการหมั้นจึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรองไว้และจะนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยนิติกรรมมาใช้ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ได้ เพราะบทบัญญัติว่าด้วยการหมั้นและการสมรส ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่สืบพยานนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share