คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7544/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 นั้น ต้องมีเหตุสมควรอันจะพึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัยจึงจะมีคำสั่งภายหลังได้ ที่จำเลยที่ 3 อ้างเหตุว่า ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาโดยไม่มีการอ่านและให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 รับทราบการอ่านภายหลังทั้งที่บุคคลดังกล่าวมิได้รับทราบการอ่านและศาลใช้บทบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540ต้องส่งความเห็นโต้แย้งของจำเลยที่ 3 ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้นถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ ทั้งมิได้อ้างว่าบทบัญญัติกฎหมายมาตราใดขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีเหตุที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 3 แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 3ไม่อาจยกปัญหาที่ตั้งขึ้นโดยคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ขึ้นเป็นข้อฎีกาได้ แม้จะขอให้รับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์เป็นคำขอโต้แย้งหรือคำแถลงขอโต้แย้งก็ตาม เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยที่ 3 ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดโอนขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 5574 ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี แก่โจทก์ทั้งสองคนละ25 ไร่ ในราคาไร่ละ 10,000 บาท หากไม่โอนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งแปด จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านคำพิพากษาศาลฎีกาศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จและส่งไปให้ศาลชั้นต้นเพื่ออ่าน ในวันที่ 25 สิงหาคม2540 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวว่า เสมียนทนายความโจทก์ทั้งสองมาศาลจำเลยที่ 3 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา จึงได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้เสมียนทนายความโจทก์ทั้งสองฟังโดยถือว่าจำเลยที่ 3 ทราบคำพิพากษาตามกฎหมายและจดรายงานกระบวนพิจารณาต่อมาว่า หลังอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 3ที่ 5 และที่ 8 มาศาล จึงให้ทราบการอ่านและให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ลงลายมือชื่อไว้

จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 3 มาศาลและรออยู่ที่ห้องนัดฟังคำพิพากษาจนล่วงเลยกำหนดเวลานัด ผู้พิพากษาลงจากบัลลังก์โดยไม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จึงถือได้ว่าไม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวและขอคัดค้านการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นไปโดยชอบ ให้ยกคำร้องจำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งว่า การขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ต้องร้องขอภายในกำหนดระยะเวลาที่ให้ยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ให้ยื่นอุทธรณ์จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง ต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์อีก

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 3 แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ให้อำนาจศาลออกคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์และกรณีของจำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะขยายระยะเวลาให้จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้นั้น เห็นว่าการที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 นอกจากศาลจะต้องเห็นสมควรแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ยังบังคับว่าจะพึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย จึงจะมีคำสั่งภายหลังได้ ที่จำเลยที่ 3 อ้างเหตุว่า ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาโดยไม่มีการอ่านและจดรายงานกระบวนพิจารณาต่อมาว่า ให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 รับทราบการอ่าน ภายหลังจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ลงลายมือชื่อมาศาลตามนัดโดยจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 มิได้รับทราบการอ่านและศาลใช้บทบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2540 ต้องส่งความเห็นโต้แย้งของจำเลยที่ 3 เพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ ทั้งมิได้อ้างว่าบทบัญญัติกฎหมายมาตราใดขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีเหตุที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อต่อไปว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 21 จำเลยมีสิทธิเสนอคำขอหรือคำแถลงต่อศาล และศาลมีอำนาจรับคำขอหรือคำแถลง จำเลยที่ 3 จึงขอให้ศาลฎีการับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นคำขอโต้แย้งหรือคำแถลงขอโต้แย้งของจำเลยที่ 3เพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยต่อไปนั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 3 แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ไม่อาจยกปัญหาที่ตั้งขึ้นโดยคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ขึ้นเป็นข้อฎีกาได้ แม้จะขอให้รับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์เป็นคำขอโต้แย้งหรือคำแถลงขอโต้แย้งก็ตาม เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share