คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ขอให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 66 ทวิ วรรคสองซึ่งความผิดฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมายหรือนัยหนึ่งคำสั่งดังกล่าวต้องเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและได้มีการแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อำนาจในการสั่งให้รื้อถอนอาคาร พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า ถ้าการกระทำตามมาตรา 40เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการ รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยให้ดำเนินการรื้อถอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8(11) หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9หรือมาตรา 10 ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารส่วนที่ก่อสร้างโดยผิดกฎหมายของจำเลยสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาถึงอำนาจในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารของเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยได้บังอาจก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลเมืองอุดรธานีและเป็นแบบแปลนที่ไม่อาจอนุญาตให้ก่อสร้างได้อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ย่อมไม่พอแปลหรือไม่อาจอนุมานได้ว่าเป็นกรณีเดียวกันกับที่กฎหมายบัญญัติว่าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการตีความให้เป็นผลร้ายเพื่อลงโทษจำเลย เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตามบทบัญญัติใน มาตรา 42กรณีย่อมรับฟังไม่ได้ว่า มีกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะใช้อำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารได้ การที่จำเลยไม่รื้อถอนอาคารจึงไม่มีความผิด ปัญหาที่ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารชอบหรือไม่ ย่อมกระทบกระเทือนถึงความสงบสุขและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร แต่ดำเนินการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จึงไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21 ซึ่งเป็นกรณีก่อสร้างอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของอาคาร เป็นผู้ควบคุมงานและเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทำการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น 2 คูหา ขนาดกว้าง7 เมตร ยาว 7 เมตร เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย เมื่อระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2535 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2536 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดสูง 3 ชั้น 3 คูหา กว้าง 14.40 เมตร ยาว 10 เมตรโดยเพิ่มความสูงและขนาดของตัวอาคารตลอดจนกั้นห้องก่อสร้างห้องน้ำประจำห้องนอนและเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเสาให้ผิดไปจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และเป็นแบบแปลนที่ไม่อาจอนุญาตให้ก่อสร้างได้ตามกฎหมาย และระหว่างวันที่9 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานได้รับทราบคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวแล้วจำเลยได้เพิกเฉย ละเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21, 31, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 67, 70, 71ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต กับปรับจำเลยเป็นรายวันตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารส่วนที่ได้ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตออกจนแล้วเสร็จ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 31, 40, 42,65, 66 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 เดือนปรับ 10,000 บาท และปรับตามมาตรา 65 วรรคสอง วันละ 300 บาทนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2536 จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ถูกต้องและฐานไม่รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำคุก2 เดือน ปรับ 20,000 บาท ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่โจทก์ฟ้องมีบทลงโทษให้ปรับเป็นรายวันจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 66 ทวิ วรรคสอง นั้น คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบคำสั่งวันใดและฝ่าฝืนคำสั่งวันใด การที่โจทก์กล่าวรวมกันมาทั้งวันทราบคำสั่งและฝ่าฝืนคำสั่งว่าอยู่ในระยะเวลาเดียวกันคือวันที่ 9 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน2536 เช่นนี้ ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งวันใด จำเลยอาจทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาที่โจทก์กล่าวหาจำเลยก็ได้ ความจริงแล้วโจทก์ยืนยันว่าจำเลยทราบคำสั่งและฝ่าฝืนคำสั่งได้เพราะหลักฐานอยู่ที่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานวันใด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่มีทางลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) รวมจำคุก 3 เดือน ปรับ 30,000 บาทและปรับวันละ 300 บาท จำเลยให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 เดือนปรับ 20,000 บาท และปรับวันละ 200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอที่ให้สั่งจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 66 ทวิ วรรคสองอีกบทหนึ่งให้ลงโทษปรับวันละ 1,500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้หนึ่งในสามคงปรับวันละ 1,000 บาท รวมลงโทษทุกกระทงความผิด คงจำคุก 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท และปรับวันละ1,200 บาท แต่เฉพาะค่าปรับตามมาตรา 66 ทวิ วรรคสอง วันละ1,000 บาท ให้นับตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 ไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2535 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2536 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารเป็นผู้ควบคุมงานและได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีให้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น 2 คูหา ขนาดกว้าง7 เมตร ยาว 7 เมตร ที่ถนนศรีสุข ตำบลหมากแข้งอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3 ชั้น 3 คูหากว้าง 14.40 เมตร ยาว 10 เมตร ตลอดจนกั้นห้องก่อสร้างห้องน้ำประจำห้องนอนและเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเสาให้ผิดไปจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ทั้งเป็นแบบแปลนที่ไม่อาจอนุญาตให้ก่อสร้างได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวแล้วแต่จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าฟ้องโจทก์ในข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ขอให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 66 ทวิ วรรคสองเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ว่าระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานได้รับทราบคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยเพิกเฉยละเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย ดังนี้เห็นว่า ความผิดฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย หรือนัยหนึ่งคำสั่งดังกล่าวต้องเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและได้มีการแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอำนาจในการสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า”ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงานหรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยให้ดำเนินการรื้อถอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8(11) หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9หรือมาตรา 10″ ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารส่วนที่ก่อสร้างโดยผิดกฎหมายของจำเลยสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่จึงเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาถึงอำนาจในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารของเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายถึงสาระสำคัญดังกล่าวไม่ที่ฟ้องโจทก์ข้อ 1 ก. บรรยายว่า จำเลยได้บังอาจก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลเมืองอุดรธานีและเป็นแบบแปลนที่ไม่อาจอนุญาตให้ก่อสร้างได้อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น ไม่พอแปลหรืออนุมานได้ว่าเป็นกรณีเดียวกันกับที่กฎหมายบัญญัติว่าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ทั้งจะเป็นการตีความให้เป็นผลร้ายเพื่อลงโทษจำเลย เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตามบทบัญญัติในมาตรา 42 จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะใช้อำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารได้การที่จำเลยไม่รื้อถอนอาคารจึงไม่มีความผิด และปัญหาที่ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารชอบหรือไม่ย่อมกระทบกระเทือนถึงความสงบสุขและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานไม่รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
อนึ่ง คดีนี้จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารแต่ดำเนินการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 21 ซึ่งเป็นกรณีก่อสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาตด้วยเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 40, 42, 66 ทวิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share