แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งพักราชการโจทก์ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยปราศจากเหตุอันสมควรด้วยเหตุที่บริษัท ฮ. ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องต่อมานายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ซึ่งขณะนั้นตำแหน่งยังว่างอยู่ จำเลยสามารถสั่งให้เข้ารับราชการได้ทันที แต่จำเลยกลับเสนอขอกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษา เพื่อจะให้โจทก์เข้ารับราชการในตำแหน่งดังกล่าว และได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนคำสั่งทั้งที่จำเลยเป็นนักกฎหมายและมีประสบการณ์ในการทำงานราชการมามาก ทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2535 มาตรา 126 วรรคสาม ระบุไว้ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการแล้วจะอุทธรณ์ต่อไปอีกมิได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเท่านั้นแม้คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติไว้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามในเวลาอันสมควร ทั้งการปฏิบัติตามก็กระทำได้โดยง่าย แต่จำเลยกลับปล่อยให้ล่วงเลยถึง 7 เดือน จึงมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ซึ่งเหลือเวลา 15 วัน โจทก์จะครบเกษียณอายุ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 130 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชา อ.ก.พ.จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณีแต่มาตรา 130 วรรคสอง กำหนดวิธีการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. เมื่อในขณะนั้นยังไม่มีกฎ ก.พ. ที่ออกตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาบังคับใช้ จึงต้องบังคับตามมาตรา 137 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยนำกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2518 ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ที่ใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับ กฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าว ข้อ 7 วรรคสี่ กำหนดว่า ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ร้องต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล กรณีเช่นนี้ให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณาเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ การที่โจทก์ร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีส่งคำร้องทุกข์ของโจทก์ให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณาจึงชอบด้วยกฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าว
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2518) ข้อ 3 กำหนดว่า การร้องทุกข์ในชั้นต้นร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งเสียก่อนหากได้รับคำชี้แจงไม่เป็นที่พอใจหรือไม่ได้รับคำชี้แจงภายในเจ็ดวันนับแต่วันร้องทุกข์ด้วยวาจา จึงให้ผู้ร้องทุกข์ยื่นเรื่องร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ 7 การกำหนดให้ร้องทุกข์ด้วยวาจาก็เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้มีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจในชั้นต้นเสียก่อนนั่นเองมิได้ถือเป็นข้อสำคัญเคร่งครัด ประกอบกับโจทก์ไม่ได้พบกับจำเลยจึงไม่อาจจะร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อจำเลย กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2518) ข้อ 4 โจทก์มีสิทธิร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีได้ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2518) ข้อ 7
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 130 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2518)ข้อ 2 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การร้องทุกข์ไว้ว่า เหตุร้องทุกข์ต้องเกิดจากผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์โดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนนั้น การปฏิบัติไม่ถูกต้องมีความหมายกว้าง รวมทั้งการใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้องด้วย
อ.ก.พ. วิสามัญฯ ตั้งขึ้นโดย ก.พ. เพื่อทำการใด ๆ แทน ก.พ.ตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2535 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของ ก.พ. ประกอบกับกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2518) ข้อ 7 วรรคสี่ กำหนดให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณาคำร้องทุกข์ของโจทก์เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ อ.ก.พ.วิสามัญฯ มีหน้าที่เพียงแต่ช่วย ก.พ.พิจารณาคำร้องทุกข์เท่านั้นถ้ามติใดของ อ.ก.พ. วิสามัญฯ มีปัญหาเป็นที่สงสัยไม่ชัดเจนก็เสนอให้ก.พ. ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงพิจารณาได้ ดังนั้น การทบทวนมติของอ.ก.พ. วิสามัญฯ จึงกระทำเพื่อให้เกิดความถูกต้องและยุติธรรม ก.พ. ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคำร้องทุกข์ของโจทก์เสนอนายกรัฐมนตรีโดยตรงจึงมีอำนาจทบทวนมติของ อ.ก.พ. วิสามัญฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณาคำร้องทุกข์ของโจทก์แทน ก.พ. ได้
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 129 วรรคสอง บัญญัติให้นำมาตรา 126 ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. และมาตรา 127 มาใช้บังคับโดยอนุโลมมาตรา 126 วรรคสาม ซึ่งอนุโลมมาใช้ในการร้องทุกข์บัญญัติว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการหรือคณะรัฐมนตรีมีมติตามวรรคหนึ่งให้ผู้อุทธรณ์กลับเข้ารับราชการหรือให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือให้ดำเนินการประการใด ให้กระทรวง ทบวง กรม ดำเนินการให้เป็นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรีและเมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการหรือคณะรัฐมนตรีมีมติตามวรรคหนึ่งเป็นประการใดแล้วจะอุทธรณ์ต่อไปอีกมิได้ คำสั่งของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดจึงเป็นที่สุดจะอุทธรณ์คำสั่งหรือให้ทบทวนคำสั่งอีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2529 เป็นต้นมา จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2536จำเลยมีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 362/2536 ให้พักราชการโจทก์ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2536 ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536โจทก์ได้ร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลสั่งการให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม นายกรัฐมนตรีส่งคำร้องทุกข์ของโจทก์ให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนพิจารณาคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนพิจารณาแล้วมีมติว่าการร้องทุกข์ของโจทก์รับฟังได้ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับมติดังกล่าวและมีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์ ให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม จำเลยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ทราบคำสั่งของนายกรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537ซึ่งนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาต่อเนื่องกัน จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว แต่จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี มิได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์ และมิได้มีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมโดยปราศจากเหตุอันจะอ้างตามกฎหมายทั้งนี้จำเลยประสงค์ไม่ให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนครกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญหลายตำแหน่งนับว่าเป็นผู้ที่คุณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือน ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 จำเลยเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2535มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2536 จำเลยมีคำสั่งพักราชการโจทก์ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 362/2536 เอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 4พฤศจิกายน 2536 โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลตามเอกสารหมาย จ.7 จ.14 และ จ.15 นายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณา ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องทุกข์ของโจทก์รับฟังได้ และนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลควรสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์ และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม และได้แจ้งให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีทราบตามเอกสารหมาย จ.21เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอนายกรัฐมนตรีว่าเห็นควรสั่งการตามความเห็นของ ก.พ. ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ดำเนินการตามเสนอตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.13 เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามเอกสารหมายจ.19 และแจ้งให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.23 แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี กลับทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าวตามหนังสือเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11นายกรัฐมนตรีส่งให้ ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและเรื่องนี้กฎหมายถือว่ากรณีเป็นที่สุดไม่อาจขอให้ ก.พ. พิจารณาทบทวนได้อีกตามหนังสือเอกสารหมาย จ.12การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน2537 จำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์ ให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยอ้างว่าหากโจทก์กลับเข้ารับราชการก่อนเกษียณอายุราชการคงไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการปฏิบัติราชการและการพิจารณาคดีในศาลตามคำสั่งเอกสารหมายจ.26 ซึ่งมิใช่มีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและการที่จำเลยเพิ่งมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการเมื่อเหลือระยะเวลาให้โจทก์รับราชการเพียง 15 วัน โจทก์ไม่สามารถจะปฏิบัติงานได้ โจทก์จึงยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ
จำเลยนำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนโจทก์ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2536 บริษัทฮาร์ท ออยล์สยาม อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัดฟ้องโจทก์ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว โจทก์ในคดีนั้นมีหนังสือถึงจำเลยขอความเป็นธรรม และขอให้ลงโทษโจทก์ทางวินัยตามหนังสือเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 จำเลยสอบสวนพฤติกรรมของโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์มีพฤติกรรมทำให้เสียหายแก่การพิจารณาคดีต่อคู่ความ ต่อราชการและผู้ร้องทุกข์เพื่อประโยชน์ของทางราชการจึงมีคำสั่งให้พักราชการโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีโดยมิได้ร้องทุกข์ต่อจำเลยเป็นหนังสือหรือด้วยวาจานายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้ ก.พ. พิจารณา และ ก.พ. ได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการวิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์หรืออ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ เป็นผู้พิจารณาอ.ก.พ. วิสามัญฯ มีความเห็นว่า คำสั่งของจำเลยที่ให้พักราชการโจทก์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และมติของ อ.ก.พ. วิสามัญฯ ถือว่ายุติแต่ ก.พ. ไม่ส่งมติดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี กลับนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของ ก.พ. อีกครั้ง โดยมีกรรมการบางคนไม่มีสิทธิประชุม ซึ่ง ก.พ. พิจารณาแล้วมีมติว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้พักราชการโจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะสั่งพักราชการโจทก์ และได้ส่งมติครั้งหลังนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งจำเลยว่านายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์ตามความเห็นของ ก.พ. ตามเอกสารหมาย ล.11 จำเลยเห็นว่า มติของ ก.พ.และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีไม่ถูกต้องเพราะการร้องทุกข์ในเบื้องต้นโจทก์จะต้องร้องทุกข์ต่อจำเลยผู้บังคับบัญชาด้วยวาจา หากจำเลยไม่พิจารณาหรือไม่จัดการใด ๆ จึงจะร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีได้แต่โจทก์ร้องทุกข์โดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเป็นการร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518) ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว การร้องทุกข์จึงไม่ชอบทั้งการที่โจทก์ร้องทุกข์โดยอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งพักราชการโจทก์โดยไม่มีเหตุสมควรนั้นขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 130 และเมื่อ อ.ก.พ. วิสามัญฯ มีมติแล้ว ก.พ. นำเรื่องเข้าพิจารณาใหม่อีกเป็นการไม่ชอบ จำเลยจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทบทวนมติของ ก.พ. และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย จ.10 และจ.11 ในระหว่างที่ยังไม่ทราบผลการทบทวนดังกล่าว โจทก์ก็ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ในการทำงานของจำเลยหากมีมติใด ๆ เป็นที่สงสัยก็ขอให้พิจารณาหรือทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงมตินั้นได้ จำเลยจึงมีสิทธิขอให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนมติดังกล่าว และหนังสือของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่แจ้งคำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้จำเลยทราบ ไม่ได้ระบุว่าให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีภายในกี่วัน ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมแล้วตามเอกสารหมาย จ.26
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนระดับ 11 ตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งเป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งระดับ 11 ก่อนเกิดเหตุบริษัทฮาร์ท ออยล์สยาม อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ตจำกัด ได้ฟ้องโจทก์กับพวกข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5388/2536 ของศาลชั้นต้นหลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีมูล มีคำสั่งให้ประทับฟ้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2536 จำเลยมีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 362/2536 ตามเอกสารหมาย ล.1 ให้พักราชการโจทก์เพื่อรอฟังผลการพิจารณาคดีดังกล่าว วันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ทำหนังสือร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเพื่อสั่งการให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักราชการดังกล่าวและมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมตามหนังสือเอกสารหมาย จ.7 จ.14 และ จ.15 โดยโจทก์ไม่ร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อจำเลยผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งก่อนนายกรัฐมนตรีส่งคำร้องทุกข์ของโจทก์ให้ ก.พ. พิจารณา ก.พ. ได้มอบหมายให้ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์พิจารณาแทนอ.ก.พ. วิสามัญฯ ดังกล่าวประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536แล้ววินิจฉัยโดยเสียงข้างมากว่าคำร้องทุกข์ของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้มีมติให้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งยกคำร้องทุกข์ของโจทก์ ตามมติอ.ก.พ. วิสามัญฯ และรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.13 และ ล.15ต่อมา ก.พ. พิจารณาคำร้องทุกข์ของโจทก์แล้วเห็นว่าคำร้องทุกข์ของโจทก์รับฟังได้ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลควรสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมต่อไป หลังจากนั้น ก.พ. มีหนังสือลงวันที่ 6 ธันวาคม2536 แจ้งความเห็นดังกล่าวไปยังเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไปตามหนังสือเอกสารหมายจ.21 นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามที่ ก.พ. เสนอตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.13 เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ถึงจำเลยแจ้งให้ทราบว่านายกรัฐมนตรีมีบัญชาตามความเห็นของ ก.พ. ให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมตามหนังสือเอกสารหมาย จ.23 กระทรวงพาณิชย์ได้รับหนังสือดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ตามทะเบียนรับ-ส่งหนังสือเอกสารหมาย จ.24 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2537 จำเลยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.10และวันที่ 31 มีนาคม 2537 จำเลยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.พ. สั่งการให้ ก.พ. พิจารณาทบทวนเรื่องที่มีคำสั่งให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมตามเอกสารหมาย จ.11 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2537 ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2537 จำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และให้โจทก์มาปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2537 เป็นต้นไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นแรกตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปตามฎีกาว่าจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแล้ว กระทรวง ทบวง กรม ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 126 เมื่อพ้นระยะเวลาแล้วการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โจทก์เห็นว่าจำเลยกลั่นแกล้ง ส่วนฝ่ายจำเลยมีจำเลยเบิกความว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีแต่มีเจตนาจะให้ทบทวนใหม่เพื่อความถูกต้องและให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป จำเลยสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในวันที่ 15 กันยายน 2537หลังจากที่ได้รับหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม2537 เหตุที่มีคำสั่งช้าเพราะขณะนั้นจำเลยมีภาระกิจและมีงานที่ต้องสั่งการจำนวนมาก ประกอบกับจำเลยเห็นว่าผู้รักษาราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงจะต้องเตรียมส่งมอบงานให้แก่โจทก์ จำเลยไม่มีเจตนาจะถ่วงเวลาให้โจทก์กลับเข้ารับราชการ จำเลยมีสิทธิจะสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ เห็นว่า ก.พ. พิจารณาตั้งข้อสังเกตในการที่จำเลยใช้ดุลพินิจสั่งพักราชการโจทก์ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 362/2536 ลงวันที่ 25ตุลาคม 2536 ว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ว่า ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้องซึ่งผู้บังคับบัญชาเห็นว่าปฏิบัติการตามหน้าที่โดยชอบ กระทรวงการคลังก็ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการประกันตัวและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ส่วนทางด้านคดี พนักงานอัยการก็รับแก้ต่างให้ในคดีที่ข้าราชการถูกฟ้องในเรื่องที่ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ ถ้าถือว่าข้าราชการถูกฟ้องในเรื่องที่ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่เป็นเรื่องที่ทำให้ส่วนราชการเสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติภูมิและความเชื่อถือของประชาชนแล้ว ทางราชการคงไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแก่ข้าราชการผู้ถูกฟ้อง และคดีที่โจทก์ถูกฟ้องก็ได้รับความช่วยเหลือในด้านคดีจากพนักงานอัยการโจทก์ถูกฟ้องคดีอาญาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2536 หลังจากนั้นประมาณ3 เดือน จึงถูกสั่งพักราชการ (เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2536) หากโจทก์จะใช้อิทธิพลข่มขู่พยาน หรือทำลายหรือปรับเปลี่ยนพยานเอกสารในความครอบครองของกระทรวงพาณิชย์ ก็มีโอกาสกระทำได้ตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อถูกฟ้อง ไม่จำต้องรอไว้เป็นเวลานานหลายเดือน ทั้งก่อนมีการสั่งพักราชการก็ไม่ปรากฏหรือมีสิ่งใดส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้คำสั่งพักราชการไม่ได้ชี้พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ที่ปราศจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือยังไม่มีมูลกรณีเกิดขึ้นอันจะถือเป็นเหตุสั่งพักราชการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีข้าราชการถูกฟ้องคดีอาญามีตัวอย่างของส่วนราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงการคลัง กรมที่ดินและกรมตำรวจซึ่งข้าราชการในส่วนราชการนั้น ๆ ถูกราษฎรฟ้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและศาลประทับฟ้องแล้ว หากคดีนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ราชการและพนักงานอัยการเห็นสมควรรับแก้ต่างให้ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายก็หาได้ใช้อำนาจสั่งพักราชการสำหรับข้าราชการผู้นั้นเพื่อรอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลไม่ จากข้อสังเกตของ ก.พ.ดังกล่าวแสดงถึงข้อพิรุธที่ผิดปกติวิสัยของจำเลยผู้บังคับบัญชาที่ด่วนสั่งพักราชการโจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ประกอบกับจำเลยอ้างว่า เมื่อจำเลยได้รับหนังสือร้องเรียนของบริษัทฮาร์ท ออยล์สยามอิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด จำเลยได้สอบพฤติกรรมโจทก์โดยมอบหมายให้นายคมจิต ลุสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของนายคมจิตพยานจำเลยว่า พยานไม่ทราบว่าจำเลยใช้ข้อมูลในการตัดสินใจครั้งดังกล่าว(สั่งพักราชการโจทก์) อย่างไร จึงเจือสมกับความเห็นของ ก.พ. ดังกล่าวนอกจากนี้หลังจากจำเลยได้รับทราบคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย จ.23 หรือ ล.11 ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ซึ่งขณะนั้นตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่างอยู่ จำเลยสามารถสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการได้ทันทีแต่จำเลยกลับเสนอขอกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(นักวิชาการพาณิชย์ 11) ตามหนังสือกระทรวงพาณิชย์ที่ พณ 0201/34ลงวันที่ 2 มีนาคม 2537 ประกอบกับจำเลยเบิกความรับว่าจำเลยมีหนังสือขออนุมัติตำแหน่งข้าราชการระดับ 11 ของกระทรวงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีกตำแหน่ง เพื่อประสงค์จะให้โจทก์เข้ารับราชการในตำแหน่งดังกล่าวนอกจากนี้วันที่ 1 มีนาคม 2537 และวันที่ 31 มีนาคม 2537 จำเลยได้ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว ทั้งที่จำเลยเป็นนักกฎหมายและมีประสบการณ์ในการทำงานราชการมามาก เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆทางการเมืองทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 126 วรรคสาม ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการประการใดแล้วจะอุทธรณ์ต่อไปอีกมิได้ ดังนั้น ถ้าพิจารณาพฤติกรรมของจำเลยตั้งแต่แรกที่สั่งพักราชการโจทก์โดยไม่มีเหตุผลสมควรเรื่อยมาจนถึงขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนคำสั่งตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า แม้จำเลยกับโจทก์จะไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนก็ตาม แต่ก็มิใช่ว่าเมื่อไม่มีสาเหตุดังกล่าวแล้ว จำเลยจะต้องไม่กลั่นแกล้งหรือทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสมอไป การที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลทั้ง ๆที่จำเลยทราบดีว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติงานประจำตามหน้าที่รัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ มิใช่งานที่เป็นนโยบาย ดังนั้นจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น การที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามทั้งที่สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่กลับพยายามหาเหตุต่าง ๆ มาอ้างเพื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในวันที่ 15 กันยายน 2537 เหตุที่มีคำสั่งช้าเพราะขณะนั้นจำเลยมีภาระกิจและมีงานที่ต้องสั่งการจำนวนมากและจำเลยเห็นว่าผู้รักษาราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงจะต้องเตรียมส่งมอบงานให้แก่โจทก์ จำเลยไม่มีเจตนาถ่วงเวลานั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเนื่องจากขณะนั้นตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่างอยู่ จำเลยสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งได้ทันทีไม่มีความยุ่งยาก ถึงแม้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยต้องปฏิบัติไว้ก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในเวลาอันสมควรทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวก็กระทำได้โดยง่าย แต่จำเลยกลับพยายามหาเหตุต่าง ๆ มาอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว แต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาถึงประมาณ 7 เดือนจึงมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ในวันที่ 15 กันยายน2537 ซึ่งเหลือเวลาเพียง 15 วัน โจทก์จะครบเกษียณอายุราชการ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์ต้องร้องทุกข์ต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและร้องทุกข์ต่อ ก.พ. เท่านั้น โจทก์ร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีจึงไม่ชอบเห็นว่า แม้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 130 วรรคหนึ่ง จะกำหนดให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชา อ.ก.พ.จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวงหรือ ก.พ. แล้วแต่กรณีก็ตามแต่มาตรา 130 วรรคสอง กำหนดวิธีการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะนั้นยังไม่มีกฎ ก.พ. ที่ออกตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาบังคับใช้ จึงต้องบังคับตามมาตรา 137 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ที่บัญญัติว่าในระหว่างที่ยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกา หรือออกกฎ ก.พ. ข้อบังคับหรือระเบียบ หรือจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง หรือกำหนดกรณีใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำพระราชกฤษฎีกากฎ ก.พ. ข้อบังคับ ระเบียบมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง หรือกรณีที่กำหนดไว้แล้วซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับโดยอนุโลม และกฎ ก.พ. ที่ใช้อยู่เดิมได้แก่ กฎ ก.พ. ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2518 ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ กฎ ก.พ.ฉบับดังกล่าว ข้อ 7 วรรคสี่ กำหนดว่า ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ร้องต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล กรณีเช่นนี้ให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณาเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการจะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 130 วรรคหนึ่งนั้น กำหนดให้ร้องทุกข์ต่อผู้ใดได้บ้าง ส่วนวิธีการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้น ต้องปฏิบัติตามมาตรา 130 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 137 ดังกล่าว ที่โจทก์ร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีส่งคำร้องทุกข์ของโจทก์ให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณาจึงชอบด้วยกฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าวซึ่งบังคับใช้ในขณะนั้นแล้ว ที่จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์จะต้องร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งเสียก่อนตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518) ข้อ 3 เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อจำเลยผู้บังคับบัญชาเหนือตน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นว่า วิธีการร้องทุกข์ต้องกระทำตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 130 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 137 ดังกล่าวมาแล้ว แม้กฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518)ข้อ 3 จะกำหนดว่า การร้องทุกข์ในชั้นต้นร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งเสียก่อน หากได้รับคำชี้แจงไม่เป็นที่พอใจหรือไม่ได้รับคำชี้แจงภายในเจ็ดวันนับแต่วันร้องทุกข์ด้วยวาจา จึงให้ผู้ร้องทุกข์นั้นยื่นเรื่องร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ 7 เมื่อพิเคราะห์ข้อความในกฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าวโดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ว่าการกำหนดให้ร้องทุกข์ด้วยวาจาก็เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้มีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจในชั้นต้นเสียก่อนนั่นเอง มิได้ถือเป็นข้อสำคัญเคร่งครัด ประกอบกับได้ความจากโจทก์ว่า ในวันที่จำเลยมีคำสั่งพักราชการโจทก์ จำเลยเรียกโจทก์ไปพบแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยมีคำสั่งพักราชการโจทก์ เนื่องจากโจทก์ถูกฟ้องคดีอาญา โจทก์ได้ชี้แจงให้จำเลยทราบว่า โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ถูกฟ้องและบอกจำเลยว่าแล้วแต่จำเลย โจทก์จะใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนจำเลยก็เบิกความเจือสมคำเบิกความของโจทก์ว่า ก่อนจำเลยจะสั่งพักราชการโจทก์ จำเลยได้เรียกโจทก์ไปพบให้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องถูกฟ้อง แต่โจทก์ตอบว่า หากสั่งพักราชการโจทก์ก็จะฟังจำเลยแสดงว่าโจทก์และจำเลยไม่สามารถที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกันได้แล้วนอกจากนี้ยังได้ความจากโจทก์อีกว่า หลังจากโจทก์เซ็นชื่อรับทราบคำสั่งพักราชการแล้วก็ไม่ได้พบกับจำเลยอีก ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือร้องทุกข์ของโจทก์เอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 ที่ระบุว่าโจทก์ไม่อาจร้องทุกข์ด้วยวาจาตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518) ข้อ 3 จึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องร้องทุกข์เป็นหนังสือตามนัยข้อ 4 และข้อ 7 ของกฎ ก.พ. ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้พบกับจำเลยจึงไม่อาจจะร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อจำเลย กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518) ข้อ 4 ดังกล่าว โจทก์มีสิทธิร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2518) ข้อ 7 ที่จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์ร้องทุกข์ได้แต่เฉพาะจำเลยใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อโจทก์โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ปฏิบัติต่อโจทก์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น จะร้องทุกข์ว่าจำเลยใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมไม่ได้ เห็นว่า การร้องทุกข์ดังกล่าวต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 130วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518) ข้อ 2 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การร้องทุกข์ไว้เช่นเดียวกันว่า เหตุร้องทุกข์ต้องเกิดจากผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์โดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน จะเห็นได้ว่าเหตุร้องทุกข์มีสองประการได้แก่ ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมายประการหนึ่ง และผู้บังคับบัญชาปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์โดยไม่ถูกต้องอีกประการหนึ่งซึ่งเหตุประการหลังนี้มิได้จำกัดเฉพาะปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น การปฏิบัติไม่ถูกต้องจึงมีความหมายกว้าง รวมทั้งการใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้องด้วย ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยใช้ดุลพินิจสั่งพักราชการโจทก์โดยไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมได้ ที่จำเลยฎีกาอีกว่าเมื่อ อ.ก.พ. วิสามัญฯ ได้มีมติหรือความเห็นในเรื่องใดแล้ว ก.พ. ไม่มีสิทธินำไปพิจารณาลงมติหรือมีความเห็นใหม่อีกนั้น เห็นว่า อ.ก.พ. วิสามัญฯตั้งขึ้นโดย ก.พ. เพื่อทำการใด ๆ แทน ก.พ. ตามความในมาตรา 11แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของ ก.พ. นั่นเอง ประกอบกับกฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518) ข้อ 7 วรรคสี่ กำหนดให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณาคำร้องทุกข์ของโจทก์เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ อ.ก.พ.วิสามัญฯ มีหน้าที่เพียงแต่ช่วย ก.พ. พิจารณาคำร้องทุกข์เท่านั้นแม้ในทางปฏิบัติโดยปกติการพิจารณาการอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์จะให้แล้วเสร็จในชั้น อ.ก.พ. วิสามัญฯ ก็ตาม แต่เนื่องจาก อ.ก.พ.วิสามัญฯ เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์น้อยกว่า ก.พ. ดังนั้นถ้ามติใดของ อ.ก.พ. วิสามัญฯ มีปัญหาเป็นที่สงสัยไม่ชัดเจนก็ควรเสนอให้ ก.พ. ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงพิจารณาจึงจะถูกต้องประกอบกับเลขาธิการ ก.พ. จะเสนอให้ ก.พ. พิจารณาทบทวนมติของ อ.ก.พ. วิสามัญฯ ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลอันสมควรเท่านั้น มิใช่เสนอได้ตามอำเภอใจ ส่วน ก.พ. ก็ประกอบด้วยผู้มีความรู้และประสบการณ์มาก ประการสำคัญมีอิสระในการทำหน้าที่ เลขาธิการ ก.พ. ไม่อาจชักนำให้ ก.พ. ลงมติตามที่ตนต้องการได้ดังนั้น การทบทวนมติของ อ.ก.พ. วิสามัญฯดังกล่าวจึงกระทำเพื่อให้เกิดความถูกต้องและยุติธรรมโดยแท้ ก.พ.ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคำร้องทุกข์ของโจทก์เสนอนายกรัฐมนตรีโดยตรงจึงมีอำนาจทบทวนมติของ อ.ก.พ. วิสามัญฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณาคำร้องทุกข์ของโจทก์แทน ก.พ. ได้ ที่จำเลยฎีกาต่อมาอีกว่า จำเลยมีสิทธิขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนคำสั่งที่ให้จำเลยสั่งเพิกถอนคำสั่งพักราชการโจทก์ และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมโดยอ้างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 88ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 129วรรคสอง บัญญัติให้นำมาตรา 126 ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. และมาตรา 127 มาใช้บังคับโดยอนุโลมมาตรา 126 วรรคสาม ซึ่งอนุโลมมาใช้ในการร้องทุกข์บัญญัติว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการหรือคณะรัฐมนตรีมีมติตามวรรคหนึ่งให้ผู้อุทธรณ์กลับเข้ารับราชการหรือให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือให้ดำเนินการประการใดให้กระทรวง ทบวง กรม ดำเนินการให้เป็นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรีและเมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการหรือคณะรัฐมนตรีมีมติตามวรรคหนึ่งเป็นประการใด แล้วจะอุทธรณ์ต่อไปอีกมิได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดย่อมเป็นที่สุดจะอุทธรณ์คำสั่งหรือให้ทบทวนคำสั่งอีกไม่ได้ ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้นเมื่อกฎหมายให้สิทธิโจทก์ร้องทุกข์และนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้จำเลยปฏิบัติตาม คำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย