คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำคำเสนอทางโทรสารขอจองห้องพักระหว่างวันที่ 6 ถึง 12 มกราคม 2535 ไปถึงจำเลยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2534 จำเลยทำคำสนองทางโทรสารตอบรับการจองห้องพักไปถึงโจทก์ในวันเดียวกัน สัญญาจองห้องพักจึงเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2534 โจทก์โอนเงินค่าเช่าห้องพักงวดแรกตามสัญญาให้จำเลยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 และโอนเงินงวดที่ 2 ให้จำเลยในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 เงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยภายหลังจากวันที่สัญญาจองห้องพักเกิดขึ้นแล้วจึงไม่ใช่มัดจำที่จำเลยจะพึงริบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) เพราะไม่ใช่เงินหรือสิ่งใดที่โจทก์ให้จำเลยไว้ในวันเข้าทำสัญญา ทั้งไม่ใช่หลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจองห้องพักเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534 โจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคแรก สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินอันเกิดจากการเลิกสัญญานี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี เรื่องลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน ๑,๐๔๔,๓๗๗.๖ ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือคิดเป็นเงินไทย ๘,๓๕๔,๗๐๐.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗๕๙,๕๑๘.๒๖ ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือคิดเป็นเงินไทย ๖,๐๗๖,๑๔๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เงินที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยเป็นเงินมัดจำมิใช่เงินชำระค่าจองห้องพัก จำเลยจัดเตรียมห้องพักและอาหารให้แก่ลูกค้าโจทก์เรียบร้อยแล้ว และการขายห้องพักให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต้องติดต่อล่วงหน้า ๖ เดือน ถึง ๑ ปี การบอกเลิกการจองห้องพักของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะจำเลยไม่อาจติดต่อนักท่องเที่ยวเข้าพักแทนได้ทัน จำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ให้บอกเลิกการเข้าพักล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยครอบครองเงินดังกล่าวเพื่อตนเองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า ๕ ปีแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๘๘๕,๔๓๓.๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๔ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทำคำเสนอขอจองห้องพักไปถึงจำเลยเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๔ โดยมีข้อเสนอจะชำระเงินให้แก่จำเลยในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ เป็นเงินร้อยละ ๒๕ ของราคาทั้งหมดและจะชำระอีกในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๔ เป็นเงินร้อยละ ๔๕ ของยอดที่เหลือ ส่วนที่เหลือจะชำระให้ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันสิ้นสุดการพักตามโทรสารเอกสารหมาย จ. ๖ ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๔ จำเลยทำคำสนองตอบรับการจองห้องพักและเงื่อนไขการแบ่งชำระค่าห้องพักจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. ๕ สัญญาจองห้องพักจึงเกิดขึ้นในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๔ ไม่ใช่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าห้องพักให้จำเลย ส่วนวันที่ ๖ ถึงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๕ เป็นระยะเวลาเข้าพักในห้องพักที่จองไว้ แต่ในวันที่สัญญาเกิดซึ่งถือว่าเป็นวันที่ทำสัญญาโจทก์ไม่ได้ชำระเงินหรือสิ่งใดแก่จำเลยไว้ จนกระทั่งในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ จำเลยจึงทวงเงินค่าห้องพักงวดแรกตามโทรสารเอกสารหมาย จ. ๒๑ โจทก์เพิ่งจะโอนเงินงวดแรกให้จำเลยเป็นเงิน ๒๘๘,๗๖๘.๒๖ ฟรังก์ฝรั่งเศส ในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ และโอนเงินในงวดที่สองให้จำเลยเป็นเงิน ๔๘๘,๒๕๐ ฟรังก์ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันสิ้นสุดการพัก ดังนั้น เงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยภายหลังจากวันที่สัญญาจองห้องพักเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่ใช่มัดจำที่จำเลยจะพึงริบเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๘ (๒) เพราะไม่ใช่เงินหรือสิ่งใดที่โจทก์ให้จำเลยไว้ในวันเข้าทำสัญญา ทั้งไม่ใช่หลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๗ หากแต่เป็นเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยเป็นงวด ๆ ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกการจองห้องพักซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคแรก จำเลยต้องคืนเงินให้โจทก์
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ ๓,๐๐๐ บาท.

Share