คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3527/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุตลอดมา หาได้ออกไปแล้วกลับเข้ายึดถือครอบครองใหม่ไม่ แม้จะฟังได้ว่า จำเลยแผ้วถางต้นไม้แล้วปลูกมันสำปะหลังก็เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีก่อน คือการยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุที่ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว การแผ้วถางต้นไม้และขุดดินปลูกมันสำปะหลังเป็นการแสดงออกว่าจำเลยยังคงเป็นผู้ยึดถือครอบครองอยู่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำลายและทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติขึ้นใหม่ การที่โจทก์มิได้บังคับคดีให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่เกิดเหตุในคดีก่อน แต่กลับฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันนี้อีก ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำต่อเนื่องจากคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 33, 83, 91 ริบของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่บุกรุก และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2757/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2757/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษเข้ากับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก เป็นลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่บุกรุกส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ด้วย กับให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ส่วนจอบของกลาง 5 เล่ม ให้คืนแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่าก่อนคดีนี้จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2543/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ในข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่บุกรุก ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2757/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ เอกสารหมาย ล.4 ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในข้อหาเดียวกัน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการกระทำความผิดในคดีก่อนหรือไม่ โจทก์มีนายสมคิด จันทรัตน์ นายจักริน นาสารีย์ นายสมพร คำนึก และนายอำนาจ มุขขระโกษา เจ้าพนักงานป่าไม้ เป็นพยานเบิกความว่าระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 จำเลยกับพวกบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร โดยจำเลยกับพวกบุกรุกแผ้วถางเป็นจำนวนเนื้อที่ 11 ไร่ ที่ดินบางส่วนทำร่องไว้สำหรับปลูกมันเทศและมันสำปะหลัง ซึ่งที่ดินที่บุกรุกเป็นแปลงเดียวกันกับที่ดินที่โจทก์ฟ้องจำเลยบุกรุกเมื่อปี 2542 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2757/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ โดยจำเลยและบริวารต้องออกไปจากที่ดินดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาล แต่จำเลยไม่ยอมออกจึงถูกจับกุมเป็นคดีนี้ซึ่งจำเลยเบิกความยอมรับว่า นับตั้งแต่ศาลพิพากษาในคดีก่อนเป็นต้นมา จำเลยยังคงทำกินในที่ดินแปลงเดิมตลอดมา โดยเจ้าพนักงานป่าไม้ไม่เคยบังคับหรือกระทำการใด เพื่อให้จำเลยออกจากที่ดินดังกล่าว เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สมาชิกสมัชชาเกษตรกรรายย่อยซึ่งจำเลยเป็นสมาชิกอยู่ด้วยทำกินในที่ดินที่เคยทำอยู่ไปก่อน ทั้งนี้นายรณชิต ทุ่มโมง เลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสานได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าทางราชการผ่อนปรนให้จำเลยสามารถทำกินในที่ดินดังกล่าวได้ เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยรับกันแล้วว่า จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุตลอดมา หาได้ออกไปแล้วกลับเข้ายึดถือครอบครองใหม่ไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยแผ้วถางต้นไม้แล้วปลูกมันสำปะหลังเมื่อระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 10 พฤาภาคม 2543 ก็เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีก่อน คือการยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุที่ศาลได้พิพากษลงโทษจำเลยไปแล้วการแผ้วถางต้นไม่และขุดดินปลูกมันสำปะหลังเป็นการแสดงออกว่าจำเลยยังคงเป็นผู้ยึดถือครอบครองอยู่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำแผนและทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติขึ้นใหม่ การที่โจทก์มิได้บังคับคดีให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่เกิดเหตุในคดีก่อน แต่กลับฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันนี้อีก ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำต่อเนื่องจากคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ คืนจอบของกลางแก่เจ้าของมานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share