คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์และพนักงานโจทก์จัดให้มี ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทหลักทรัพย์ อ. ตามกฎหมายแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากโจทก์ และจะเป็นผู้ดำเนินกิจการของกองทุนเอง มิใช่เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์หรือพนักงานโจทก์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบใดๆ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยร่วม หากจำเลยร่วมมีสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบส่วนของโจทก์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อบังคับแล้ว จำเลยร่วมก็ชอบที่จะฟ้องร้องบังคับให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทหลักทรัพย์ อ. จ่ายเงินสมทบ ส่วนของโจทก์แก่จำเลยร่วม จำเลยร่วมหามีอำนาจที่จะฟ้องโจทก์จ่ายเงินสมทบส่วนของโจทก์แก่จำเลยร่วมไม่
เมื่อจำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกจ้างยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้ดำเนินการในกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยร่วมอันเป็นกรณีที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสิทธิที่จะได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 123 ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยร่วมที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานดำเนินการต่อไปหรือไม่ก็ได้ แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จะเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่หาได้มีบทบัญญัติใดที่จำกัดห้ามมิให้จำเลยร่วมถอนคำร้องที่ยื่นต่อจำเลยแล้วยื่นคำร้องใหม่เพื่อให้จำเลยดำเนินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 123 อีกแต่อย่างใด การที่จำเลยร่วมถอนคำร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2544 คำร้องฉบับดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป เมื่อจำเลยร่วมยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เพื่อให้จำเลยดำเนินการใหม่ จำเลยทำการสอบสวนและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ย่อมเป็นการดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ระยะเวลานับแต่วันที่ยื่นคำร้องฉบับแรกหาได้นับต่อเนื่องนำมารวมกับระยะเวลา 60 วัน ที่จำเลยจะต้องดำเนินการตามคำร้องฉบับที่สองไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 และวันที่ 15 สิงหาคม 2544 นางนุสรา อมราภิบาล ลูกจ้างโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานกล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2544 จำเลยมีคำสั่งที่ 29/2544 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางนุสรา โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โจทก์เลิกจ้างนางนุสราเนื่องจากกระทำความผิดตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ไม่รีบดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานให้แก่ผู้บริหารชาวต่างประเทศของโจทก์ ในตอนแรกโจทก์มอบให้นางณิยะดา จ่างตระกูล เป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมานางณิยะดาย้ายไปทำงานฝ่ายอื่น จึงได้มอบให้นางนุสราเป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2543 แต่นางนุสราจงใจดำเนินการล่าช้า ทำให้ผู้บริหารชาวต่างประเทศของโจทก์ถูกจับกุมในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต นางนุสราแจ้งความกล่าวหาผู้บริหารชาวต่างชาติของโจทก์ในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง นอกจากนี้นางนุสราไม่ได้คิดค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่การตลาดสำหรับการทำงานเดือนกันยายนและตุลาคม 2543 โจทก์จึงมีคำสั่งพักงานนางนุสราตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 และให้บุคคลอื่นไปช่วยดำเนินการแทน การดำเนินการล่าช้าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นอกจากนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่นางนุสราใช้อยู่จะมีรหัสลับซึ่งนางนุสราเป็นผู้ตั้งไว้เอง คนอื่นจะเปิดเข้าไปในโปรแกรมไม่ได้เป็นการทำลายฐานข้อมูล ทำให้เกิดความสับสนผิดพลาด คำวินิจฉัยของจำเลยไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 29/2544 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2544
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางนุสรา อมราภิบาล ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
จำเลยร่วมให้การและฟ้องแย้งว่า การขอใบอนุญาตทำงานให้แก่ผู้บริหารชาวต่างประเทศไม่ใช่งานปกติของฝ่ายบุคคล แต่เป็นงานที่เกิดขึ้นครั้งคราว โจทก์มอบให้สำนักงานกฎหมายเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้โดยมีพนักงานในฝ่ายบุคคลเป็นผู้ประสานงาน เอกสารที่ใช้ประกอบคำขอมาจากหลายฝ่ายทั้งเอกสารของบริษัทโจทก์ ซึ่งกระจายอยู่ตามฝ่ายงานต่างๆ รวมทั้งเอกสารส่วนตัวของชาวต่างประเทศผู้ขอใบอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้า จำเลยร่วมแจ้งความข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้ออ้างที่จำเลยร่วมทำลายฐานข้อมูลต่างๆ ของโจทก์เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง ส่วนค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่การตลาดประจำเดือนกันยายน 2543 จำเลยร่วมทำเสร็จและส่งมอบให้แก่นางสาวบีเล็งฮุย ผู้บังคับบัญชาของจำเลยร่วมแล้ว ส่วนเดือนตุลาคม 2543 จำเลยร่วมได้รับข้อมูลจากฝ่ายบริหารข้อมูลการจัดการเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ไม่อาจดำเนินการได้ทัน เนื่องจากถูกพักงานและถูกเลิกจ้างในเวลาต่อมา โจทก์และพนักงานได้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำเลยร่วมมีสิทธิได้รับเงินสมทบที่โจทก์จ่ายสมทบจำนวน 233,814.12 บาท เงินสมทบดังกล่าวได้โอนกลับไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์จ่ายเงินสมทบจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยของเงินสมทบ ดอกเบี้ยของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทเอกธำรง จำกัด (ที่ถูกบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง จำกัด ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย การที่จำเลยร่วมไม่ได้รับเงินสมทบในส่วนของโจทก์เป็นไปตามระเบียบหรือกฎเกณฑ์ของกองทุนโจทก์ไม่ต้องรับผิดใช้เงินสมทบส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 50,278 บาท ค่าชดเชย 502,780 บาท ให้แก่จำเลยร่วม พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีสำหรับค่าชดเชย และร้อยละ 7.5 ต่อปีสำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม และพิพากษายกฟ้องแย้ง
โจทก์และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า จำเลยร่วมมีอำนาจที่จะฟ้องโจทก์ให้จ่ายเงินสมทบส่วนของโจทก์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่จำเลยร่วมนั้น ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์และพนักงานโจทก์ได้จัดให้มีกองทุนสำร้องเลี้ยงชีพขึ้นและได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง จำกัด ตามกฎหมายแล้ว ดังนี้ เห็นว่า เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์และพนักงานโจทก์จัดให้มีได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง จำกัด ตามกฎหมายแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากโจทก์ และจะเป็นผู้ดำเนินกิจการของกองทุนเองหาใช่เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์หรือพนักงานโจทก์ไม่ ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบใดๆ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยร่วม หากจำเลยร่วมมีสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบส่วนของโจทก์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อบังคับเอกสารหมาย จ.22 แล้ว ไม่ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง จำกัด จะจ่ายเงินสมทบส่วนของโจทก์ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ก็ตาม จำเลยร่วมก็ชอบที่จะฟ้องร้องบังคับให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง จำกัด จ่ายเงินสมทบส่วนของโจทก์แก่จำเลยร่วม จำเลยร่วมหามีอำนาจที่จะฟ้องให้โจทก์จ่ายเงินสมทบส่วนของโจทก์แก่จำเลยร่วมไม่ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2542 จำเลยร่วมยื่นคำร้องแก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยดำเนินการสอบสวนแล้ว แต่จำเลยเห็นว่าจะมีคำสั่งไม่ทันภายในกำหนด 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง จำเลยจึงแนะนำให้จำเลยร่วมถอนคำร้องแล้วยื่นคำร้องใหม่ จำเลยร่วมจึงได้ถอนคำร้องและยื่นคำร้องใหม่ในวันที่ 15 สิงหาคม 2544 จำเลยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 เกินกว่า 60 วันนับแต่วันที่จำเลยร่วมยื่นคำร้องฉบับแรกวันที่ 26 มิถุนายน 2544 โดยจำเลยมิได้ขอขยายเวลาต่อผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกจ้างยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้ดำเนินการในกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยร่วมอันเป็นกรณีที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสิทธิที่จะได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยร่วมที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไรก็ได้ แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่หาได้มีบทบัญญัติใดที่จำกัดห้ามมิให้จำเลยร่วมถอนคำร้องที่ยื่นต่อจำเลยแล้วยื่นคำร้องใหม่เพื่อให้จำเลยดำเนินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 อีกแต่อย่างใด การที่จำเลยร่วมถอนคำร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2544 คำร้องฉบับดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป เมื่อจำเลยร่วมยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เพื่อให้จำเลยดำเนินการใหม่ จำเลยทำการสอบสวนและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ย่อมเป็นการดำเนินการภายในกำหนด 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ระยะเวลานับแต่วันที่ยื่นคำร้องฉบับแรกหาได้นับต่อเนื่องนำมารวมกับระยะเวลา 60 วันที่จำเลยจะต้องดำเนินการตามคำร้องฉบับที่สองดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า ตามพยานหลักฐานไม่ปรากฏคำร้องของจำเลยร่วมฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ก็ดี ไม่มีการออกหนังสือตามระเบียบปฏิบัติเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหามาให้ปากคำต่อพนักงานตรวจแรงงานตามคำร้องฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ก็ดี โจทก์ไม่เคยแสดงเจตนาใดๆ ที่จะให้นำเอกสารหรือคำให้การใดๆ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2544 มาใช้ต่อสู้คดีตามคำร้องฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 และจำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก็ดี คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ล้วนแต่เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 29/2544 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2544 และจำเลยร่วมฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายดอกเบี้ยของค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายแก่จำเลยร่วมเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้จำเลยร่วม จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้ง เพราะเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีจำเลยร่วมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งของจำเลยอยู่แล้ว กรณีเช่นนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และ 7.5 ต่อปี ของจำนวนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งของจำเลยที่ 29/2544 นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม และยกคำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยร่วม

Share