แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ได้รับสัมปทานเดินรถยนต์โดยสารประจำทาง แต่โจทก์มีรถเดินอยู่เพียงคันเดียว อีก 25 คันเป็นรถของบุคคลอื่นเข้ามาร่วมด้วย และเจ้าของรถเป็นผู้จ้างและจ่ายค่าจ้างให้พนักงานประจำรถร่วม ดังนี้ พนักงานประจำรถร่วมมิใช่ลูกจ้างของโจทก์ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ฯ ส่วนเรื่องความรับผิดในกรณีละเมิดก็เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะนำมาใช้ในกรณีเรื่องกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับใบอนุญาตขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารโดยโจทก์มีรถยนต์ของตนเองวิ่งอยู่เพียง 1 คัน รถยนต์นอกนั้นอีก 25 คันเป็นของบุคคลอื่นนำเข้ามาวิ่งร่วมในเส้นทางกับโจทก์ พนักงานขับรถและพนักงานประจำรถต่างรับเงินจากเจ้าของรถร่วมโดยตรง พนักงานดังกล่าวจึงมิใช่ลูกจ้างของโจทก์จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์นำเงินสมทบพร้อมด้วยเงินเพิ่มไปชำระ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ประเมินเงินสมทบโดยถือเอาลูกจ้างของรถร่วมทุกคันมาเป็นลูกจ้างของโจทก์ด้วย ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการฯ เห็นชอบกับคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้แจ้งให้โจทก์นำเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนชำระโจทก์ปฏิเสธอ้างว่าโจทก์มีลูกจ้างเพียง 8 คน นอกนั้นอีก 84 คนเป็นลูกจ้างของเจ้าของรถร่วม แต่จำเลยที่ 1 เห็นว่าลูกจ้างของเจ้าของรถร่วม 84 คนเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนพร้อมด้วยเงินเพิ่มมาชำระ โจทก์ไม่ชำระ คำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นคำสั่งตามอำนาจหน้าที่และชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนายจ้างของพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถร่วมด้วย มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน คำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นเรื่องให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประเภทขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนฯ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาความหมายของนายจ้างและลูกจ้างตามที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนฯ ที่ได้ให้คำจำกัดความว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวแต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าของรถร่วมเป็นผู้จ้างและจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานขับรถและพนักงานประจำรถร่วม ดังนี้ เจ้าของรถร่วมจึงเป็นผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างคือพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถของตนเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ส่วนพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถก็เป็นผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างคือเจ้าของรถร่วมเพื่อรับค่าจ้าง เห็นได้ชัดแจ้งว่าพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถร่วมมิใช่ลูกจ้างของโจทก์ แต่เป็นลูกจ้างของเจ้าของรถร่วมตามความในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมา แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ผลประโยชน์เที่ยวละ 10 บาท รถร่วมจะต้องพ่นสีรถและประทับตราเครื่องหมายเช่นเดียวกับรถของโจทก์ทั้งเจ้าของรถร่วม พนักงานขับรถและพนักงานประจำรถร่วมต้องปฏิบัติตามระเบียบที่โจทก์กำหนด หากฝ่าฝืนโจทก์มีอำนาจลงโทษก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้เป็นผู้จ้างและจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานรถร่วมเหล่านั้น เช่นนี้ จะถือว่าโจทก์เป็นนายจ้างของพนักงานประจำรถร่วมหาได้ไม่ ส่วนเรื่องที่โจทก์ต้องรับผิดในกรณีละเมิดด้วยนั้นก็เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะนำมาใช้ในกรณีเรื่องกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะหาได้ไม่เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นนายจ้างของพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถร่วม โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน คำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลตามกฎหมาย
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งสั่งให้จ่ายเงินสมทบพร้อมด้วยเงินเพิ่ม