แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ เดือนละหลายครั้ง จนจำเลยต้องมีหนังสือตักเตือนโจทก์ และต้องเปลี่ยนเวลาทำงานของโจทก์จากเวลาทำงานเดิม 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เป็น 9.00 นาฬิกา ถึง 18.00 นาฬิกา ต่อมาโจทก์ขอเปลี่ยนเวลาทำงานกลับไปเป็นเวลาเดิม เห็นได้ว่าจำเลยได้พยายามแก้ไขการมาทำงานสายของโจทก์ตลอดมา แต่โจทก์ไม่ปรับปรุงตัว วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสายถึง 37 นาที และเมื่อปลายปี 2545 ว. ได้ออกแบบงานชิ้นหนึ่งแล้วนำไปให้โจทก์ดำเนินการเขียนแบบตั้งแต่ตอนเช้าโดยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต้องนำไปให้ลูกค้าในวันรุ่งขึ้นเวลา 10.00 นาฬิกา โจทก์ไม่เขียนแบบเองแต่นำไปมอบให้พนักงานเขียนแบบคนอื่นดำเนินการแทน วันรุ่งขึ้นโจทก์ไปทำงานสายและปรากฏว่าผู้ที่โจทก์มอบให้เขียนแบบแทนเขียนแบบไม่เสร็จ ทำให้ ว. ต้องเสนอผลงานที่ยังไม่เสร็จต่อลูกค้า การที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ และการทำงานของโจทก์มีปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานกับฝ่ายออกแบบ เป็นเหตุให้งานของจำเลยไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด และในวันที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสาย ย่อมมีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างเดือนที่เลิกจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจำนวน 254,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1,405,464 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 188,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 7 ตุลาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2538 ตำแหน่งวิศวกรคอมพิวเตอร์ จำเลยกำหนดให้ลูกจ้างทำงานในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จึงยกเหตุว่าโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำและทำงานบกพร่องอย่างร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรง และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นเหตุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ แต่จำเลยสามารถยกเหตุดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำทุกเดือน เดือนละหลายครั้ง จนจำเลยต้องมีหนังสือตักเตือนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.9 และต้องเปลี่ยนเวลาทำงานของโจทก์จากเวลาทำงานเดิม 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เป็น 9.00 นาฬิกา ถึง 18.00 นาฬิกา ตามเอกสารหมาย ล.10 ต่อมาโจทก์ขอเปลี่ยนเวลาทำงานกลับไปเป็นเวลาเดิม ตามเอกสารหมาย ล.11 อันเห็นได้ว่าจำเลยได้พยายามแก้ไขการมาทำงานสายของโจทก์ตลอดมา แต่โจทก์ไม่ปรับปรุงตัว วันที่ 18 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสายถึง 37 นาที และเมื่อประมาณกลางปี 2545 นางสาววัชรี เจียปิยะสกุล ได้ออกแบบงานชิ้นหนึ่งแล้วนำไปให้โจทก์ดำเนินการเขียนแบบตั้งแต่ตอนเช้าโดยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าจะต้องนำไปให้ลูกค้าในวันรุ่งขึ้นเวลา 10.00 นาฬิกา แต่โจทก์ไม่เขียนแบบเอง โจทก์นำไปมอบให้พนักงานเขียนแบบคนอื่นดำเนินการแทน วันรุ่งขึ้นโจทก์ไปทำงานสายและปรากฏว่าผู้ที่โจทก์มอบให้เขียนแบบแทนเขียนแบบไม่เสร็จทำให้นางสาววัชรีต้องเสนอผลงานที่ยังไม่เสร็จต่อลูกค้า การที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ และการทำงานของโจทก์มีปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานกับฝ่ายออกแบบเป็นเหตุให้งานของจำเลยไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด และในวันที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสาย ย่อมมีเหตุควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์ยังทำงานบกพร่องอย่างร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโดยจงใจนั้นจำเลยมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ว่าโจทก์ทำงานบกพร่องในเรื่องใด อย่างไร จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็น และจำเลยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ในเรื่องดังกล่าวไว้ จำเลยจึงไม่อาจนำสืบว่าโจทก์ทำงานบกพร่องขาดการประสานงานกับฝ่ายออกแบบได้ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบและวินิจฉัยว่าโจทก์ทำงานมีปัญหากับฝ่ายออกแบบจึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ และโจทก์ทำงานบกพร่องอย่างร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรงและเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ดังนี้ เป็นการให้การปฏิเสธว่าโจทก์กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรงกับจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายด้วยการมาทำงานสายเป็นประจำและทำงานบกพร่องอย่างร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย คำให้การของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ปฏิเสธความรับผิดตามข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว คดีจึงมีประเด็นว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายด้วยการมาทำงานสายเป็นประจำและทำงานบกพร่องอย่างร้ายแรงหรือไม่ ส่วนโจทก์จะทำงานบกพร่องในเรื่องใดบ้าง อย่างไร เป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยจึงนำสืบว่าโจทก์ทำงานบกพร่องโดยขาดการประสานงานกับฝ่ายออกแบบได้โดยไม่จำต้องถามค้านพยานโจทก์ในเรื่องดังกล่าวไว้ เพราะเป็นการนำสืบตามประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ ศาลแรงงานกลางย่อมรับฟังพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบและวินิจฉัยว่าโจทก์ทำงานบกพร่องมีปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานกับฝ่ายออกแบบจนเป็นเหตุให้งานของจำเลยไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้ขาดการประสานงานกับฝ่ายออกแบบการทำงานไม่เสร็จตามกำหนดไม่ใช่การขาดการประสานงานหน้าที่ในการประสานงานเป็นของฝ่ายบริหาร นางสาววัชรี เจียปิยะสกุล ไม่ใช่นายจ้างไม่มีหน้าที่ดังกล่าว งานที่นางสาววัชรีมอบหมายให้ทำ ต้องใช้เวลานานไม่สามารถจะทำให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 วันได้ และในรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.2 ไม่ได้ระบุว่าโจทก์ทำงานผิดพลาดแต่อย่างไร นั้น เป็นการอุทธรณ์โดยยกเหตุผลต่างๆ ขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานบกพร่องขาดการประสานงานกับฝ่ายออกแบบจนเป็นเหตุให้งานของจำเลยไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยอันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นับแต่วันที่โจทก์มาทำงานสายตามเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.9 ถึงวันเลิกจ้างเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว เอกสารดังกล่าวจึงสิ้นผลใช้บังคับ ศาลแรงงานกลางจึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มาทำงานสายตามเอกสารดังกล่าวได้ กับปรากฏตามเอกสารหมาย ล.12 ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 มีพนักงานของจำเลยมาทำงานสายกันเป็นประจำ เฉพาะเดือนมกราคม 2545 มีถึง 15 คน ในวันที่ 18 กันยายน 2545 ก็มีถึง 3 คน แต่จำเลยมิได้เลิกจ้างพนักงานดังกล่าวคนใด ทั้งจำเลยตัดสิทธิหักวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย ล.8 และจำเลยย่อมเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 แสดงว่าจำเลยมิได้ถือว่าการมาทำงานสายเป็นเรื่องร้ายแรง สมควรที่จะเลิกจ้าง เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ และการทำงานของโจทก์บกพร่องมีปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานกับฝ่ายออกแบบจนเป็นเหตุให้งานของจำเลยไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด วันที่ที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่ว่า โจทก์ไม่ได้ทำงานมีข้อบกพร่องขาดการประสานงานกับฝ่ายออกแบบ จนเป็นเหตุให้งานของจำเลยไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามและศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยดังกล่าวมาแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายืน