แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์นำของเข้าในราชอาณาจักร โจทก์ต้องสำแดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้าไม่ถูกต้อง จึงสั่งให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าและภาษีที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าดังกล่าว ถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากรแล้ว หากโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ตามประมวล-รัษฎากร มาตรา 30 แม้จำเลยจะเรียกเก็บอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษี-บำรุงเทศบาลพร้อมกัน ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อกอง-วิเคราะห์ราคาจำเลยได้ ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อกองวิเคราะห์ราคาของจำเลย หรือโต้แย้งราคาไว้และขอคืนอากรที่ชำระเกินภายหลังนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากรโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
การนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าตามฟ้องฉบับที่ 1 เมื่อพนักงาน-เจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่ม โจทก์เพียงแต่ชำระตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้า ส่วนจำนวนที่มีการเรียกให้ชำระเพิ่มโจทก์ยังมิได้ชำระแต่ได้วางเงินสดเป็นหลักประกันค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยอาจประเมินให้ชำระเพิ่มในภายหลัง จะถือว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าภาษีอากรที่โจทก์ยินยอมชำระตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดให้ชำระเพิ่มตั้งแต่วันนำเข้าแล้วย่อมมิได้ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเงินประกันส่วนที่พนักงาน-เจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่คืนให้ภายหลังการประเมินเพราะถือว่าเป็นค่าอากรที่ต้องชำระเพิ่ม จึงมิใช่การขอคืนเงินค่าอากรที่โจทก์ชำระเกินกว่าจำนวนที่พึงชำระจริง ตามบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469อันจะอยู่ในอายุความ 2 ปี นับแต่วันนำสินค้าเข้า ส่วนใบขนสินค้าตามฟ้องฉบับที่ 2 – 9 นั้น ในวันที่โจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนดังกล่าว โจทก์ได้ยินยอมเพิ่มราคาสินค้าจากที่สำแดงไว้ และชำระค่าภาษีอากรเพิ่มตามจำนวนที่พนักงาน-เจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดตามใบขนสินค้าทุกฉบับ ถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรส่วนที่เกินแล้ว การฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรในส่วนนี้จึงต้องนำอายุความ 2 ปี ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 10 วรรคห้า มาใช้บังคับ
คำสั่งกรมศุลกากรที่ 28/2527 เป็นเพียงแนวทางให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้สำหรับพิจารณาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดได้เสมอไปเพราะแม้เป็นราคาสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันมีแหล่งกำเนิดจากประเทศหรือโซนเดียวกัน หากมีคุณภาพและความนิยมแตกต่างกันมากก็อาจมีราคาแตกต่างกันเกินกว่าร้อยละ 10 ได้ ดังนั้น ราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดให้โจทก์ชำระเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์สำแดงไว้ร้อยละ 16.93 จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าทั้งสองฉบับโจทก์มีพยานนำสืบว่า เป็นราคาที่มีการซื้อขายกันจริง และเป็นราคาที่ใช้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก จึงฟังได้ว่าราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าตามฟ้องฉบับที่ 1 – 10 เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายของมาตรา 2แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469