แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรให้ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นการฟ้องคดีตามมาตรา 7(1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 8บัญญัติว่าจะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเกี่ยวกับการคัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรนั้นแล้ว คดีของโจทก์เป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิในฐานะผู้รับประเมินตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 ซึ่งมีมาตรา 39 บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ศาลประทับฟ้อง…เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้น…’ ดังนั้นเมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยชี้ขาดเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้ แม้โจทก์จะตั้งรูปคดีเป็นเรื่องละเมิดมาด้วย ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 ดังกล่าวเสียก่อนไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนเลขที่ 228/1ถนนรัชดาภิเษก แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ขอให้ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจากโจทก์กับให้จำเลยทั้งสามลงประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแจ้งว่ามีการประเมินภาษีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายต่อโจทก์เป็นระยะเวลา 7 วันติดต่อกัน
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ‘…โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง โดยประการสำคัญเพื่อให้จำเลยยกเลิกการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ตามนัยแห่งมาตรา 7 (1)พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งตามมาตรา 8 แห่งกฎหมายฉบับดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า’คดีตามมาตรา 7 (1) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรกลางได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น…..แล้ว’ คดีโจทก์เป็นเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 โดยโจทก์ใช้สิทธิตามมาตรา 31 แห่งกฎหมายดังกล่าวในฐานะผู้รับประเมิน ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มิใช่ผู้รับประเมิน ยิ่งจะเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้อีกประการหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่จะวินิจฉัยในชั้นพิจารณา ในชั้นยื่นฟ้องนี้ โจทก์จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งกฎหมายฉบับดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า ‘ถ้ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลตามความในมาตรา 31 ท่านห้ามมิให้ศาลประทับฟ้อง…เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้น…’ ดังนั้นโจทก์ในฐานะผู้รับประเมินจะอ้างเหตุใด ๆ ก็ตามมาเพื่อจะไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยชี้ขาดเสียก่อนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้ แม้โจทก์จะตั้งรูปคดีเป็นเรื่องละเมิดมาด้วย ก็หาเป็นเหตุทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 ดังกล่าวเสียก่อนไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.