คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3519/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีหลังทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยที่ 4 ทำผิดเงื่อนไขคุมประพฤติในระหว่างที่ศาลรอการกำหนดโทษไว้ในคดีแรก แต่พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษในคดีหลังไว้ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นในคดีหลังใช้ดุลพินิจไม่พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ก่อนที่จะทำคำพิพากษาคดีหลังตาม ป.อ. มาตรา 58 ที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษจำเลยที่ 4 ได้อีก ส่วนการที่ศาลชั้นต้นทราบจากรายงานของเจ้าพนักงานคุมประพฤติว่า จำเลยที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติของจำเลยที่ 4 แล้วแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีแรกจากรอการกำหนดโทษเป็นกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นการใช้ดุลพินิจหลังจากศาลชั้นต้นในคดีแรกทำคำพิพากษาแล้วโดยอาศัยอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 57 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับมาตรา 58 จึงมิใช่เป็นการใช้อำนาจซ้ำซ้อนตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกา

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 340 วรรคหนึ่ง, 340 ตรี, 358 ประกอบมาตรา 83 อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี โดยวางเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยทั้งแปด ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ให้ประกอบอาชีพและศึกษาต่อเป็นกิจจะลักษณะ โดยให้นำหลักฐานการเรียนมาแสดง หากผลการเรียนตกต่ำกว่าเดิมให้รายงานศาล ให้ละเว้นการคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี โดยเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ ห้ามเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหรือเข้าไปในสถานเริงรมย์ทุกประเภท ห้ามดื่มสุรา สูบบุหรี่ สูดดมสารระเหยหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ห้ามเล่นการพนัน ห้ามออกจากที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืนเว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นหรือได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ให้จำเลยทั้งแปดมาศาลเมื่อศาลจัดโครงการที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งแปดและให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด จำนวน 24 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 1 ปี ริบไม้ไผ่ของกลางและให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนน้ำมันเบนซิน จำนวน 2 ลิตร หรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 50 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย ต่อมาพนักงานคุมประพฤติมีหนังสือ รายงานศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 4 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสารภีจับกุมดำเนินคดีใหม่ในความผิดฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 ซึ่งอยู่ระหว่างรอการกำหนดโทษในคดีนี้โดยศาลชั้นต้นในคดีหลังพิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยที่ 4 ไว้ 1 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 653/2549 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิจารณารายงานคุมความประพฤติของพนักงานคุมประพฤติแล้วมีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยที่ 4 กลับตัวเป็นคนดีโดยรอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และวางเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยที่ 4 ไว้ ในระหว่างรอการกำหนดโทษจำเลยที่ 4 ละเลยที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติโดยไปกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์อีกเป็นการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับความผิดเดิมฐานปล้นทรัพย์ แสดงว่าจำเลยที่ 4 ไม่พยายามกลับตนเป็นคนดีจึงให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาเดิมโดยไม่รอการกำหนดโทษและคุมความประพฤติจำเลยที่ 4 อีก แต่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และ 57 โดยลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 4 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 เชียงใหม่ มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 4 ถูกควบคุมตัว เพื่อขัดเกลานิสัยและความประพฤติจำเลยที่ 4 ให้ดีขึ้น และเพื่อให้มีโอกาสฝึกหัดวิชาชีพเพื่อประโยชน์ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2)
จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่ง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 และให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแทน ศาลฎีกาจึงต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติที่แก้ไขใหม่
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีนี้จากรอการกำหนดโทษเป็นไม่รอการกำหนดโทษนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 4 ฎีกาทำนองว่า การกระทำความผิดในคดีหลังของจำเลยที่ 4 ผู้พิพากษาในคดีหลังได้ทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 และเงื่อนไขคุมความประพฤติของจำเลยที่ 4 ในคดีแรกแล้วเพราะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนของทั้งสองสำนวนเป็นคนเดียวกัน โดยผู้พิพากษาได้พิจารณาสำนวนในคดีแรกแล้วก็ได้ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 4 แต่ไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีแรก โดยยังคงไม่กำหนดโทษที่รอไว้ในคดีแรกเช่นเดิม อันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 แล้ว ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาคนใหม่พิจารณารายงานคุมความประพฤติของพนักงานคุมประพฤติแล้วแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีแรกเป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 จึงเป็นการใช้อำนาจซ้ำซ้อนกับผู้พิพากษาคนเดิมที่ได้เคยใช้ดุลพินิจไม่กำหนดโทษจำเลยที่ 4 ไปแล้วจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ระบุว่า “เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำไปโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง “จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแม้จะได้ความว่า ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีหลังจะทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 4 ได้ทำผิดเงื่อนไขในระหว่างที่ศาลรอการกำหนดโทษไว้ในคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นในคดีหลังได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงแล้ว เห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษในคดีหลังไว้เช่นเดียวกับในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นในคดีหลังใช้ดุลพินิจที่จะไม่พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ก่อนที่จะทำคำพิพากษาคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษจำเลยที่ 4 ได้อีก ดังนั้น เมื่อพนักงานคุมประพฤติรายงานการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีนี้จากรอการกำหนดโทษเป็นกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ได้อันเป็นการใช้ดุลพินิจหลังจากศาลชั้นต้นในคดีนี้ทำคำพิพากษาแล้วโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 57 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับมาตรา 58 จึงมิใช่เป็นการใช้อำนาจซ้ำซ้อนตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 จึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาโดยลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 แล้วเปลี่ยนเป็นส่งไปฝึกอบรมนั้น ศาลชั้นต้นไม่ได้ปรับบทลงโทษว่า การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว แต่ก็มิได้แก้ไว้ในคำพิพากษา จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 4 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ประกอบมาตรา 143 ทั้งนี้มิให้ควบคุมเกินกว่าจำเลยที่ 4 มีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share