คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3622/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้เสียสิทธินั้นต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่
ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างมิใช่เหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิล่าช้าอันจะถือเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 ทั้งมิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมจำเลยจะต้องแจ้งถึงสิทธิและกำหนดเวลาในการขอรับประโยชน์ทดแทนต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิทราบ ฉะนั้นการที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโจทก์ย่อมเสียสิทธิดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของกิจการร่วมค้า บีซีเคที ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2542 และเป็นผู้ประกันตนที่ได้จ่ายเงินสมทบครบเงื่อนเวลาที่จะเกิดสิทธิที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2542 ได้ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 1 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 จำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากยื่นขอรับประโยชน์เกิน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์ โจทก์ไม่เห็นด้วย เพราะโจทก์ไม่ทราบว่าจะต้องยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี คำสั่งของจำเลยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ รส. 0717/18877 และคำวินิจฉัยที่ 513/2544 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นเงินบำเหน็จแก่โจทก์ตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างได้จ่ายเงินสมบทกรณีชราภาพมาแล้ว 4 เดือน รวมเป็นเงิน 1,200 บาท พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 มาตรา 77 ทวิ วรรคสอง กำหนดให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน และความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือ 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ มาตรา 56 ได้กำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่วันมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปีนับแต่วันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 513/2544 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ รส. 0717/18877 และคำวินิจฉัยที่ 513/2544 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายบำเหน็จชราภาพให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของกิจการร่วมค้า บีซีเคที ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2542 และเป็นผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ 4 เดือน โจทก์ได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2542 ขณะที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 โจทก์ได้ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากจำเลยที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 1 จำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุด เนื่องจากยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกิน 1 ปี โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยที่ 513/2544 ว่าโจทก์ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเกิน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ มีมติยกอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 บัญญัติว่า “ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดเห็นว่าตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 และประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น และให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยเร็ว
ประโยชน์ทดแทนตามวรรคหนึ่งที่เป็นตัวเงิน ถ้าประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน” จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะมีสิทธิพึงได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แล้วก็ตามแต่หากบุคคลดังกล่าวประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทน บุคคลนั้นๆ ก็จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน ดังจะเห็นได้จากความในวรรคสองว่า แม้สำนักงานประกันสังคมจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวรับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินแล้วก็ตาม แต่หากบุคคลดังกล่าวไม่มารับภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมให้ตกเป็นของกองทุนประกันสังคม ดังนั้น หากผู้ยื่นคำขอมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามปกติบุคคลนั้นก็ย่อมเสียสิทธิ แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาดก็ต้องแปลว่าการที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้นต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำฟ้องของโจทก์ว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างนั้นเนื่องจากโจทก์ไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอภายในกำหนดดังกล่าวและโจทก์อ้างว่าเมื่อสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้วจำเลยก็น่าจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ เห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างนั้น มิใช่เหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิล่าช้าอันจะถือเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นแต่อย่างใด และข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเมื่อสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้วจำเลยก็น่าจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องแจ้งถึงสิทธิและกำหนดเวลาในการขอรับประโยชน์ทดแทนต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิทราบ ฉะนั้นการที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ย่อมเสียสิทธิดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share