คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของ ว. บิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็นอำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามมาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เด็กชายพงศ์พิพัฒน์ รบไพรินทร์ อายุ 5 ปี เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายวาทิต รบไพรินทร์ กับนางวิภา รบไพรินทร์ หรืออยู่สุขสบาย ต่อมาบิดามารดาผู้เยาว์ได้จดทะเบียนหย่า และตกลงให้บิดาเป็นผู้มีอำนาจปกครอง ผู้เยาว์จึงอยู่ในความปกครองของนายวาทิตตลอดมา จนกระทั่งนายวาทิตได้ถึงแก่กรรมผู้เยาว์จึงอยู่ในความดูแลของผู้ร้องซึ่งเป็นป้าของผู้เยาว์ ผู้ร้องรับราชการครู มีอาชีพมั่นคง สามารถเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ ส่วนมารดาผู้เยาว์มีครอบครัวใหม่ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้าม ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นมารดาของเด็กชายพงศ์พิพัฒน์ รบไพรินทร์ ผู้เยาว์ ภายหลังบิดาผู้เยาว์ถึงแก่กรรม ผู้คัดค้านก็รับตัวผู้เยาว์มาอยู่ในความปกครองและได้อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา ผู้เยาว์ไม่ได้ขาดผู้ปกครอง (ที่ถูกเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง) ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนพยานของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองเด็กชายพงศ์พิพัฒน์ รบไพรินทร์ ผู้เยาว์หรือไม่ ในประเด็นนี้ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่า ผู้เยาว์เป็นบุตรของนายวาทิต รบไพรินทร์ กับผู้คัดค้าน ต่อมานายวาทิต หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของนายวาทิตบิดา นายวาทิตจึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็นอำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อนายวาทิตผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงกันขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามมาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share