คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่าง ฉ. กับจำเลยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 และการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 อันมีผลให้โจทก์ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่ ฉ. เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปกติสุขเพราะ ฉ. มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ แม้จำเลยจะได้จดทะเบียนรับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่โจทก์ก็รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้คืนพิพาทให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์จึงถูกรอนสิทธิซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475
ที่ดินพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์เพราะการรอนสิทธิ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระราคาที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์คือราคาค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปแล้ว อันเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์เสียหายไปจริง ส่วนการที่โจทก์ไม่สามารถขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอกได้เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์จึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่ต้องเสียหายไปตามความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้เฉพาะขาดอายุความเรื่องการรอนสิทธิเท่านั้น การกล่างอ้างเรื่องขาดอายุความฐานลาภมิควรได้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8237 เนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา จากจำเลยในราคา 112,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายเป็นเงิน 2,800 บาท หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และชำระภาษีบำรุงท้องที่ทุกปี โจทก์ทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและบำรุงสภาพที่ดินเป็นเงินปีละไม่น้อยกว่า 30,000 บาท ทำให้ที่ดินมีราคาจากเดิมไร่ละ 4,000 บาทเศษเพิ่มสูงขึ้นเป็นราคาไร่ละ 12,000 ถึง 26,000 บาท ต่อมานายเฉลือย ศรีระอุดม เจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเผื่อ ศรีระอุดม เป็นจำเลยที่ 1 จำเลยเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เป็นจำเลยที่ 3 และโจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลชั้นต้น ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 175/2535 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 6556/2539 ให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างนายเผื่อ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายเฉลือยกับจำเลย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 และนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสอง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 อันเป็นผลให้โจทก์ทั้งสองเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปโดยการรอนสิทธิ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองเสียหายคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 114,800 บาท นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 83,859.04 บาท และต้องเสียค่าขาดประโยชน์จากราคาที่ดินซึ่งเพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปรับปรุงที่ดินพิพาทไร่ละ 5,000 บาท เป็นเงิน 139,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 338,159.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 114,800 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 มิได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีแทนโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิ คดีจึงขาดอายุความ จำเลยซื้อฝากที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายโดยสุจริตโจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและรับผลตอบแทนเกินกว่าราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลย ค่าขาดประโยชน์ตามฟ้องเป็นค่าเสียหายในกรณีพิเศษซึ่งจำเลยไม่อาจคาดหมายได้อีกทั้งมิใช่ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมิต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2531 เนื่องจากขาดอายุความ เพราะกฎหมายกำหนดให้เรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ผิดนัดได้ไม่เกิน 5 ปี โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 250,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 112,000 บาท นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2541) ต้องไม่เกิน 83,859.04 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 โจทก์ทั้งสองทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8237 ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา จากจำเลยในราคา 112,000 บาท หลังจากซื้อขายที่ดินพิพาทกันแล้วโจทก์ทั้งสองเข้าครองครองทำประโยชน์โดยทำนาในที่ดินพิพาท ต่อมาเมื่อปี 2533 นายเฉลือย ศรีระอุดม เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงเป็นโจทก์ฟ้องนายเผื่อน ศรีระอุดม เป็นจำเลยที่ 1 จำเลยเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เป็นจำเลยที่ 3 และโจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุด โดยศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างนายเผื่อนในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายเฉลือยกับจำเลยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2531 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6556/2539 โจทก์ทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้อีก เนื่องจากนายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงเข้าไปทำประโยชน์ โจทก์ทั้งสองทวงถามขอเงินค่าที่ดินคืนจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า การที่โจทก์ทั้งสองต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่นายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาจะเป็นการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 บัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น” การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างนายเผื่อนในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายเฉลือยกับจำเลยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 และนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 อันมีผลให้โจทก์ทั้งสองต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่นายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้ซื้อไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปกติสุขเพราะนายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อ ทั้งนี้เพราะนายเฉลือยมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเวลาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยซื้อขายกัน แม้จำเลยจะได้จดทะเบียนรับซื้อฝากเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่คดีได้ความว่าโจทก์ทั้งสองก็รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 มีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริง กรณีเช่นนี้ต้องถือว่านายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงมารบกวนสิทธิโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อและโจทก์ทั้งสองจำต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทั้งสองจึงถูกรอนสิทธิซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 เมื่อที่ดินพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดชำระราคาที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการณ์รอนสิทธิ…ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ดังนั้น ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองคือราคาค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลยไปแล้วจำนวน 112,000 บาท อันเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองเสียหายไปจริง ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบเรียกร้องค่าเสียหายอ้างว่าการที่ต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปจนไม่สามารถขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกได้ โดยเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ไร่ละ 5,000 บาท นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองจะขายที่ดินพิพาทได้ราคาดังกล่าวจริงหรือไม่นั้น เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ทั้งสองเองเท่านั้น ค่าเสียหายส่วนนี้จึงหาใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองต้องเสียหายไปตามความจริงไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และนอกจากนี้เมื่อจำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทจำนวน 112,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองได้เกิดสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวเอาจากจำเลยนับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6556/2539 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยจะต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองในฐานลาภมิควรได้ แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น ความข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีไว้เฉพาะขาดอายุความฟ้องร้องเรื่องการรอนสิทธิเท่านั้น การกล่าวอ้างเรื่องขาดอายุความฐานะลาภมิควรได้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 112,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share