คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หากฟังได้ว่าผู้ตายบอกยกเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ตายแล้วยังมิได้ชำระ การให้เงินค่าขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อันเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ตายที่มีต่อจำเลยจึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ตายให้แก่โจทก์ไม่มีการทำเป็นหนังสือย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทและลูกหนี้ของผู้ตาย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ เมื่อผู้ตายมีจำเลยและ ท. เป็นทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายประเภทคู่สมรส จึงมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) โจทก์ได้รับเงินกึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 500,208.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มกราคม 2557) ต้องไม่เกิน 500,208.33 บาท ตามคำขอของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิชิต ผู้ตาย แต่ไม่มีบุตร บิดามารดาถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ส่วนจำเลยและนางทัศนีย์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ผู้ตาย จำเลยและนางทัศนีย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 77693 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยการรับมรดก เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ผู้ตายทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนขายให้แก่จำเลย ในราคา 1,500,000 บาท กำหนดชำระในวันทำสัญญา 500,000 บาท งวดที่ 2 ชำระ 500,000 บาท ภายในเดือนธันวาคม 2553 งวดที่ 3 ชำระ 500,000 บาท หลังจากชำระงวดที่ 2 แล้วเป็นเวลา 3 ปี ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ผู้ตายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาแล้ว ในเดือนธันวาคม 2553 จำเลยไม่ได้ชำระเงินงวดที่ 2 ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2554 ผู้ตายถึงแก่ความตาย หลังจากนั้น 1 วัน จำเลยโอนเงินให้แก่โจทก์ 250,000 บาท และมอบเงินให้แก่โจทก์ 50,000 บาท ตามสำเนาใบถอนเงิน ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์ 200,000 บาท โดยผ่อนชำระ 20 งวด ตามบันทึกข้อตกลง ต่อมาจำเลยชำระเงินทั้งยี่สิบงวด ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ได้ชำระเงินงวดที่ 3 จำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์เป็นทายาทของผู้ตายเนื่องจากเป็นคู่สมรส จำเลยและนางทัศนีย์เป็นทายาทของผู้ตายเนื่องจากเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เงินตามสัญญาจะซื้อจะขายงวดที่ 2 และงวดที่ 3 รวม 1,000,000 บาท เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายและโจทก์ได้รับเงินในส่วนของโจทก์ไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าผู้ตายแสดงเจตนายกเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่าดำรงชีพของโจทก์ และนำสืบว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคมะเร็ง โจทก์เป็นผู้ดูแลและจ่ายค่ารักษาพยาบาล ผู้ตายรู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นานและโจทก์เสียค่ารักษาผู้ตายจำนวนมาก ผู้ตายจึงบอกยกเงินค่าขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ให้แก่โจทก์ ดังนี้ แม้หากฟังได้ว่าผู้ตายบอกยกเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ตายแล้วยังมิได้ชำระ การให้เงินค่าขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อันเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ตายที่มีต่อจำเลยจึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ ฯลฯ เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ตายให้แก่โจทก์ไม่มีการทำเป็นหนังสือย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ตาย แม้จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องนี้ แต่เป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลในการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายอันเป็นการปรับบทกฎหมาย ดังนี้ จำเลยซึ่งเป็นทายาทและลูกหนี้ของผู้ตาย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ สิทธิของผู้ตายที่จะได้รับเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายงวดที่ 2 และงวดที่ 3 รวม 1,000,000 บาท จึงตกเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เมื่อผู้ตายมีจำเลยและนางทัศนีย์เป็นทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายประเภทคู่สมรส จึงมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 (2) ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับเงินงวดที่ 2 จำนวน 500,000 บาท อันเป็นเงินกึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดกของผู้ตายดังกล่าว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิของโจทก์ตามที่จำเลยฎีกาแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยมิได้ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share