แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดเงินสมทบต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วยทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับเงินค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ โจทก์เป็นคนกลางในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าเพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ทั้งลักษณะธรรมชาติของเงินค่าบริการนี้มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เมื่อเงินค่าบริการนี้มิได้จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ จึงมิได้เป็นค่าจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 จำนวน 2 ฉบับ คือคำสั่งที่ รง 0619/56621 และคำสั่งที่ รง 0619/56622 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 1899/2556 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินสมทบเพิ่มเติมที่ได้รับไว้ 2,138,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ชำระเงินคืนให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคม จำเลยที่ 1 ที่ รง 0619/56621 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 คำสั่งที่ รง 0619/56622 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ที่ 1899/2556 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 2,138,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษา (วันที่ 2 มิถุนายน 2558) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลาง ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงแรมชื่อว่าโรงแรมเซ็นจูรี่โฮเต็ล จำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานประกันสังคม จำเลยที่ 2 เป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 โดยสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 มีหนังสือที่ รง 0619/56621 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 แจ้งผลการตรวจสอบบัญชีค่าจ้างประจำปี 2553 ให้โจทก์ชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ถึงเดือนธันวาคม 2553 จำนวน 1,064,850 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน และหนังสือที่ รง 0619/56622 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 แจ้งผลการตรวจสอบบัญชีค่าจ้างประจำปี 2554 ให้โจทก์ชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึงเดือนธันวาคม 2554 จำนวนเงิน 1,075,134 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต่อมาสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 มีหนังสือที่ รง 0619/65864 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2556 แจ้งผลการตรวจสอบบัญชีค่าจ้างประจำปี 2553 ให้โจทก์ชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ถึงเดือนธันวาคม 2553 จำนวนเงิน 1,063,366 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยที่ 2 โดยวางเงินจำนวน 2,138,500 บาท จำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยที่ 1899/2556 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ยกอุทธรณ์ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับเงินค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ โจทก์เป็นคนกลางในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าเพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ที่กรมสรรพากรเห็นว่าค่าบริการถือเป็นประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากการทำงานก็เป็นความเห็นของกรมสรรพากร ไม่ใช่กฎหมาย ดังนั้นเงินค่าบริการจึงมิใช่เงินของโจทก์ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานและไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าบริการดังกล่าวมาคิดคำนวณเพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า เงินค่าบริการเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหรือไม่ เห็นว่า ค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดเงินสมทบต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับเงินค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ โจทก์เป็นคนกลางในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าเพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ทั้งลักษณะธรรมชาติของเงินค่าบริการนี้มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เงินค่าบริการนี้จึงมิได้จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ เทียบตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8694/2550 ระหว่าง นายอนิรุธ โจทก์ บริษัทเดอะ เอวาซอน ภูเก็ต จำกัด จำเลย ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน