คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13973/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำที่มีลักษณะเป็นแต่เพียงการแบ่งบรรจุอย่างเช่นการนำเมทแอมเฟตามีนไปแบ่งย่อย หรือแยกจำนวนเพื่อบรรจุใส่ลงในหลอดกาแฟ ลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าว แม้จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่ระบาดได้ง่ายยิ่งขึ้นและนับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอีกลักษณะหนึ่งก็ตาม แต่ความร้ายแรงของการกระทำความผิดเช่นว่านี้ก็ไม่อาจเทียบเท่าได้กับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยสภาพ กฎหมายจึงบัญญัติบทกำหนดโทษสำหรับการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุไว้เป็นกรณีเฉพาะตาม มาตรา 65 วรรคสาม และวรรคสี่ อันเป็นการกำหนดโทษเป็นสัดส่วนตามสภาพความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมและลักษณะความร้ายแรงของการกระทำความผิด
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน 3 หลอด หลอดละ 10 เม็ด แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยแบ่งบรรจุมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีน้ำหนักสุทธิเท่าใด และมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า การที่จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด ใส่หลอดกาแฟเป็นการทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด ที่บรรจุในหลอดกาแฟหนึ่งหลอดดังกล่าวเป็น “หน่วยการใช้” ตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การที่จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด จำนวน 3 หลอด เป็นการผลิตโดยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณ 30 หน่วยการใช้ อันจะถือว่าจำเลยได้ผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุจำนวนหน่วยการใช้เกินปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสาม และเมื่อได้ความว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่มีลักษณะการบรรจุอย่างเดียวกันกับที่แบ่งบรรจุให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 65 วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 65, 66, 100/1 และ 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91 ริบของกลาง และคืนธนบัตรของกลางจำนวน 2,300 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 65 วรรคสอง มาตรา 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 12 ปี และปรับ 1,200,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 4 ปี ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี และปรับ 600,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (2) เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 600,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลาง และคืนธนบัตรจำนวน 2,300 บาท ของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี และปรับ 600,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 5 ปี และปรับ 300,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 7 ปี และปรับ 300,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 219 เม็ด น้ำหนัก 19.71 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 6.207 กรัม หลอดกาแฟ สก็อตซ์เทป และกรรไกรเป็นของกลาง จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 2,300 บาท โดยจำเลยได้แบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่หลอดกาแฟไว้จำนวน 3 หลอด หลอดละ 10 เม็ด และรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ที่จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่หลอดกาแฟเป็นพฤติการณ์ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม อันเป็นบ่อเกิดแห่งยาเสพติดให้โทษและทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่หลาย ยากแก่การที่จะปราบปรามให้หมดสิ้นเฉกเช่นเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าจำเลยกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 แล้วนั้น ในข้อนี้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติคำจำกัดความของคำว่า “ผลิต” ว่าให้หมายความถึง “เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย” ศาลฎีกาเห็นว่า แม้กฎหมายจะบัญญัติว่าการผลิตให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงอัตราโทษในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 ที่ได้มีการแก้ไขโดยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ซึ่งมีเหตุผลในการบัญญัติแก้ไขว่าเพื่อปรับปรุงบทกำหนดโทษให้ลดหลั่นกันตามความร้ายแรงของการกระทำความผิดแล้ว จึงทำให้เห็นได้ว่าการกำหนดอัตราโทษในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นั้น นอกจากกฎหมายจะคำนึงถึงความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมแล้ว กฎหมายยังคำนึงถึงความร้ายแรงของลักษณะของการกระทำความผิดประกอบด้วย โดยกำหนดให้การกระทำที่เป็นการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยสภาพ อันมีลักษณะเห็นชัดเจนว่าเป็นการก่อให้เกิด ประสมหรือประกอบ หรือแปรลักษณะทางวัตถุให้เกิดมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ขึ้น อย่างการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของยาเสพติดให้โทษ กฎหมายจึงต้องกำหนดอัตราโทษสูงตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท และวรรคสองบัญญัติว่าถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต ขณะที่การกระทำที่มีลักษณะเป็นแต่เพียงการแบ่งบรรจุอย่างเช่น การนำเมทแอมเฟตามีนไปแบ่งย่อยหรือแยกจำนวนเพื่อบรรจุใส่ลงในหลอดกาแฟ ซึ่งลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าวแม้จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นและนับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอีกลักษณะหนึ่งก็ตาม แต่ความร้ายแรงของการกระทำความผิดเช่นว่านี้ก็ไม่อาจเทียบเท่าได้กับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยสภาพ กฎหมายจึงบัญญัติบทกำหนดโทษสำหรับการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุไว้เป็นกรณีเฉพาะตามมาตรา 65 วรรคสาม ความว่า ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และบัญญัติวรรคสี่ว่า ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันแสดงให้เห็นว่ากฎหมายกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเป็นสัดส่วนตามสภาพความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมและลักษณะความร้ายแรงของการกระทำความผิด สำหรับคดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยทำการแบ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางบรรจุใส่หลอดกาแฟไว้เพื่อสะดวกแก่การจัดจำหน่าย โดยแบ่งบรรจุเสร็จแล้วจำนวน 3 หลอด หลอดละ 10 เม็ด ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 219 เม็ด ซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแบ่งใส่หลอดกาแฟซึ่งตัดเป็นท่อน จำนวนหลอดละ 10 เม็ด เพื่อจำหน่าย โดยมิได้บรรยายว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยแบ่งบรรจุนั้นมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีน้ำหนักสุทธิเท่าใด และไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าการที่จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ใส่หลอดกาแฟแต่ละหลอดนั้นเป็นการทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ที่บรรจุในหลอดกาแฟต่อหนึ่งหลอดดังกล่าวเป็น “หน่วยการใช้” ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติให้หมายความว่า เม็ด ซอง ขวด หรือหน่วยอย่างอื่นที่ทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง ตามบทนิยามดังกล่าว คำว่า หน่วยการใช้ ย่อมหมายถึงปริมาณยาเสพติดให้โทษในรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันไปหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างทำขึ้นโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การที่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด บรรจุใส่หลอดกาแฟ จำนวน 3 หลอด เป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณ 30 หน่วยการใช้ อันจะถือว่าจำเลยได้ผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุจำนวนหน่วยการใช้เกินปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุมีจำนวนหน่วยการใช้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสาม และเมื่อได้ความว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่มีลักษณะการบรรจุอย่างเดียวกันกับที่แบ่งบรรจุให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยผลิตโดยการแบ่งบรรจุเป็นเมทแอมเฟตามีนส่วนหนึ่งที่จำเลยเจตนามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 แต่มิได้ระบุว่าหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนดระยะเวลาเท่าใด และศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้แก้ไขในส่วนนี้ เช่นนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสี่ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี และปรับ 600,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี และปรับ 300,000 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุก 2 ปี ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เป็นจำคุก 7 ปี และปรับ 300,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share