แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 เป็นสัญญาที่คู่ความแต่ละฝ่ายต่างต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน ฝ่ายที่เป็นหนี้ค้างชำระมากกว่าจะต้องชำระหนี้ในส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลยภาคเมื่อตัดทอนบัญชี หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวแม้จะมีบัญชีคิดหนี้สินกัน สัญญานั้นก็หาเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ สัญญาให้สินเชื่อที่จำเลยทำกับโจทก์มีข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการชำระหนี้โดยให้จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อการหักทอนคิดจำนวนเงินที่จำเลยยังคงเป็นหนี้ค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะของการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลยหักกลบลบกันแต่อย่างใด สัญญาให้สินเชื่อจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด
การเบิกถอนเงินจำเลยอาจกระทำได้หลายวิธีตามที่กำหนดไว้ในสัญญา นอกจากใช้บัตรซิตี้การ์ดกับเลขรหัสประจำตัวเบิกถอนเงินจากพนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์หรือจากเครื่องฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) แล้ว จำเลยอาจใช้วิธีออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวัน หรือมีคำสั่งผ่านทางบริการซิตี้โฟนแบงก์กิ้งให้โจทก์จ่ายเงินแก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก หรือโดยวิธีการอื่นๆ ที่โจทก์ให้บริการ ทั้งนี้เงินที่จำเลยเบิกถอนไปไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งตามสัญญาข้อ 6 ระบุให้ถือว่าเป็นต้นเงินกู้ที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดให้แก่จำเลยไว้เพื่อใช้เบิกถอนเงินสดจึงเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกแก่จำเลยในการเบิกถอนเงินวิธีหนึ่งในจำนวนหลายวิธีที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้เท่านั้น จำเลยอาจเลือกใช้วิธีอื่นในการเบิกถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรซิตี้การ์ดที่โจทก์ออกให้เลยก็ย่อมกระทำได้ เงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยเบิกถอนไปแต่ละครั้ง จึงไม่มีลักษณะเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนไปก่อน แต่เป็นเงินที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ตามวงเงินสินเชื่อที่จำเลยได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์ แม้โจทก์เก็บค่าสมาชิกจากจำเลยเป็นรายปี ก็เป็นเพียงค่าตอบแทนอย่างหนึ่งที่โจทก์เรียกเก็บเท่านั้น กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปดังที่จำเลยฎีกา สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 62,278.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 31,346.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 62,278.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 31,346.63 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547) จนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งได้ความว่า จำเลยสมัครขอรับบริการสินเชื่อประเภทหมุนเวียน (Revolving loan) กับโจทก์ ชื่อบริการ “ซิตี้แบงก์เรดดี้เครดิต” โจทก์อนุมัติสินเชื่อแก่จำเลยในวงเงิน 50,000 บาท โดยใช้บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้กับโจทก์ โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ด เลขรหัสประจำตัว และมอบเช็คให้จำเลยไว้เพื่อใช้เบิกถอนเงิน จำเลยยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาให้สินเชื่อทุกประการ หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินจากวงเงินสินเชื่อหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายใช้บัตรซิตี้การ์ดเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ครบกำหนดชำระภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 แต่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ระงับการให้วงเงินสินเชื่อและส่งใบแจ้งยอดหนี้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยไม่ชำระ
ปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาให้วงเงินสินเชื่อโดยใช้บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยทำกับโจทก์ไม่ใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย แต่การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดให้จำเลยไว้เพี่อใช้เบิกถอนเงินสดแล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยในภายหลัง โดยโจทก์เรียกเก็บเงินค่าสมาชิก ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนคืน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลยภาค ลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน ฝ่ายที่เป็นหนี้ค้างชำระมากกว่าจะต้องชำระหนี้ในส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลยภาคเมื่อมีการตัดทอนบัญชี หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว แม้จะมีบัญชีคิดหนี้สินกัน สัญญานั้นก็หาเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ สัญญาให้สินเชื่อที่จำเลยทำกับโจทก์ ข้อ 10 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการชำระหนี้รวมถึงวิธีนำเงินหรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันระบุว่า “…ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าธนาคารจะนำเงินที่ได้รับจากผู้กู้ตามข้อนี้ไปชำระบรรดาหนี้อุปกรณ์ที่ผู้กู้มีต่อธนาคารตามสัญญาฉบับนี้อันได้แก่ เบี้ยปรับ ดอกเบี้ย… และหากยังมีเงินคงเหลืออยู่ ธนาคารจะนำไปชำระคืนหนี้ประธานอันได้แก่ต้นเงินกู้” ส่วนกรณีนำเงินหรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันโดยผู้กู้ไม่มีหนี้ค้างชำระอยู่ในบัญชี สัญญาข้อ 11 ระบุว่า “…ผู้กู้ตกลงยินยอมและขอมอบอำนาจชนิดเพิกถอนไม่ได้ให้ธนาคารโอนเงินสดที่ผู้กู้นำฝากและ/หรือเงินที่ธนาคารเรียกเก็บได้ตามเช็คที่นำเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งเป็นบัญชีย่อยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นเป็นการภายใน ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่งยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์…” และข้อ 20 ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามสัญญานี้ ผู้กู้ตกลงเปิดบัญชีกระแสรายวันแบบพิเศษจำนวน 1 บัญชี ไว้กับธนาคาร…” เห็นได้ว่า บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้กับโจทก์เป็นเพียงบัญชีที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการหักทอนคิดจำนวนเงินที่จำเลยยังคงเป็นหนี้ค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะของการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลยหักกลบลบกันแต่อย่างใด สัญญาให้สินเชื่อจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนปัญหาว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่า การเบิกถอนเงินจำเลยอาจกระทำได้หลายวิธีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 5 กล่าวคือ นอกจากใช้บัตรซิตี้การ์ดกับเลขรหัสประจำตัวเบิกถอนเงินจากพนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์หรือจากเครื่องฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) แล้ว จำเลยอาจใช้วิธีออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวัน หรือมีคำสั่งผ่านทางบริการซิตี้โฟนแบงก์กิ้งให้โจทก์จ่ายเงินแก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก หรือโดยวิธีการอื่นๆ ที่โจทก์ให้บริการ ทั้งนี้เงินที่จำเลยเบิกถอนไปไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ตามสัญญาข้อ 6 ระบุให้ถือว่าเป็นต้นเงินกู้ที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดให้แก่จำเลยไว้เพื่อใช้เบิกถอนเงินสดจึงเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกแก่จำเลยในการเบิกถอนเงินวิธีหนึ่งในจำนวนหลายวิธีที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้เท่านั้น จำเลยอาจเลือกใช้วิธีอื่นในการเบิกถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรซิตี้การ์ดที่โจทก์ออกให้เลยก็ย่อมกระทำได้ เงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยเบิกถอนไปแต่ละครั้งจึงไม่มีลักษณะเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนไปก่อน แต่เป็นเงินที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ตามวงเงินสินเชื่อที่จำเลยได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์ แม้โจทก์เก็บค่าสมาชิกจากจำเลยเป็นรายปี ก็เป็นเพียงค่าตอบแทนอย่างหนึ่งที่โจทก์เรียกเก็บเท่านั้น กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปดังที่จำเลยฎีกา สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี และคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ