คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 644/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนที่มีข้อความชัดแจ้งว่าจำเลยรับรองว่าได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไปจำนวนเท่านั้นเท่านี้จริงและจำเลยได้ลงชื่อไว้ท้ายบันทึกนั้นด้วย แม้จะเป็นเรื่องพนักงานสอบสวนเรียกไปไกล่เกลี่ยในทางอาญาก็ตามก็ใช้บันทึกนั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 30,600 บาท ต่อมาจำเลยได้ทำหลักฐานรับสภาพหนี้ว่าจำเลยเป็นหนี้เงินโจทก์อยู่ 13,600 บาท คิดดอกเบี้ย 5 ปี เป็นเงิน 5,100 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 18,700 บาท และดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง

จำเลยให้การว่า จำเลยมีปากเสียงกับโจทก์ พนักงานสอบสวนเรียกไปไกล่เกลี่ยให้เลิกแล้วต่อกันในทางอาญา ซึ่งโจทก์หาว่าจำเลยกล่าวคำอาฆาต ข้อความที่พนักงานสอบสวนบันทึกว่าจำเลยเป็นหนี้เงินโจทก์เป็นเพียงสาเหตุซึ่งทำให้เกิดคดีอาญา มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้และมิได้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงิน 13,600 บาท (ดอกเบี้ย 5,100 บาทเกินอัตราเป็นโมฆะ) พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้พิจารณาบันทึก (ประจำวัน) แล้ว เห็นว่ามีข้อความชัดแจ้งว่า นางพรเพ็ญจำเลยรับรองว่าได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไป 13,600 บาท และจำเลยได้ลงชื่อรับรองไว้ท้ายบันทึกนั้นด้วย แม้ข้อความตามบันทึกจะเป็นเรื่องพนักงานสอบสวนเรียกไปไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับคดีอาญาและจำเลยมิได้ตั้งใจให้ข้อความในบันทึกนั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม หรือเป็นเอกสารการรับสภาพหนี้ก็ตามแต่เมื่อข้อความในเอกสารนั้นบ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่าจำเลยได้รับรองว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์ 13,600 บาทไปจริง ข้อความนั้นก็เป็นหลักฐานอันหนึ่งซึ่งแสดงว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปเมื่อทำไว้เป็นหนังสือและจำเลยลงชื่อรับรองเป็นสำคัญแล้ว ก็ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมและนำมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องจำเลยได้พิพากษายืน

Share