คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ
การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้นเงินไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 293,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 125,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 125,000 บาท โดยระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยมอบสมุดเงินฝากและบัตรเอ.ที.เอ็ม. ให้โจทก์ไว้ใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยเพื่อชำระหนี้ทุกเดือน เดือนละ 7,750 บาท โจทก์ได้ใช้บัตร เอ.ที.เอ็ม.ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 147,250 บาท โดยโจทก์มีตัวโจทก์และนายพิชัยสามีโจทก์มานำสืบว่า จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6 ต่อเดือน ของต้นเงิน 100,000 บาทแรก ส่วนต้นเงินที่เหลือจำนวน 25,000 บาท จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน ดอกเบี้ยแต่ละเดือนจึงเท่ากับ 7,750 บาท อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ข้อนำสืบของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า การนำสืบของโจทก์เป็นเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลคดีที่ฟ้องเพื่อให้เห็นว่า หนี้ส่วนดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ การนำสืบพยานบุคคลของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ฎีกาของโจทก์ปัญหานี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน สูงกว่าอัตราที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6 ต่อเดือนของต้นเงิน 100,000 บาทแรก ส่วนต้นเงินที่เหลือจำนวน 25,000 บาท จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน โดยจำเลยมอบบัตรเอ.ที.เอ็ม.ให้โจทก์ไว้ใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย เพื่อเอาชำระดอกเบี้ยเดือนละ 7,750 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และมาตรา 411 จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืน จึงนำไปหักออกจากต้นเงินที่ชำระไม่ได้และเนื่องจากกรณีเป็นหนี้เงิน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงให้ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในวันที่ 1 มกราคม 2539 อันเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 125,000 บาท นับแต่วันผิดนัด คือวันที่ 2 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share