คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13745/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก โดยทั้งเด็กและมารดาเด็กจะต้องไปแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียนด้วยนั้น มีความมุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิที่เด็กจะพึงได้รับจากผู้เป็นบิดาอันเป็นเรื่องประโยชน์ของเด็กและการให้ความยินยอมดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะตัว อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายบังคับให้ผู้ขอรับรองบุตรต้องได้รับความยินยอม ก็ต่อเมื่อเด็กและมารดาเด็กอยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้เท่านั้น เมื่อโจทก์เคยไปติดต่อสำนักงานเขตดุสิตเพื่อจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเพียง 7 ปี เป็นบุตรของตน แม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามระเบียบ แต่เจ้าพนักงานแจ้งโจทก์ว่าต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองก่อน และโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 มารดาของจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินการ แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบปฏิเสธและจำเลยที่ 2 อยู่ในวัยไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การที่จะให้โจทก์ไปยื่นคำร้องจดทะเบียนเป็นหนังสือเพื่อให้นายทะเบียนมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองตามมาตรา 1548 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ด.ญ. ม.หรือ ณ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ จำเลยที่ 2 ต่อมาปี 2545 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แยกทางกัน แต่โจทก์ยังคงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ต้นเดือนพฤษภาคม 2551 โจทก์ไปติดต่อที่สำนักงานเขตดุสิตเพื่อจดทะเบียนรับรองบุตร โดยไม่ได้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือ แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดุสิตปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าต้องนำตัวจำเลยทั้งสองมาให้ความยินยอม โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 เพื่อนำจำเลยที่ 2 ไปให้ความยินยอม จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วได้ให้ทนายความมีหนังสือตอบปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมจดทะเบียนเป็นบุตร โจทก์จึงฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนเขตเป็นหนังสือแต่ประการใด
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก” วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่า เด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทย ให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน” และวรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล” เห็นว่า ตามเจตนารมณ์ของบทกฎหมายบิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ทั้งเด็กและมารดาเด็กจะต้องไปแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียนด้วย ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิที่เด็กจะพึงได้รับจากผู้เป็นบิดาเป็นเรื่องประโยชน์ของเด็กและการให้ความยินยอมเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้อื่นจะให้ความยินยอมแทนไม่ได้ การที่กฎหมายบังคับให้ผู้ขอรับรองบุตรต้องได้รับความยินยอมก็ต่อเมื่อเด็กและมารดาเด็กอยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เคยไปติดต่อสำนักงานเขตดุสิตเพื่อจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งอายุเพียง 7 ปีเศษ เป็นบุตรของตนแม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามระเบียบ แต่เจ้าพนักงานแจ้งว่าต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองก่อน และโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 มารดาของจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินการ แต่จำเลยที่ 1 กลับให้ทนายความมีหนังสือตอบปฏิเสธดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งจำเลยที่ 2 อายุเพียง 7 ปีเศษ ยังไร้เดียงสา ดังนั้น การที่โจทก์จะไปยื่นคำร้องจดทะเบียนเป็นหนังสืออีกเพื่อให้นายทะเบียนมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองตามมาตรา 1548 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพราะเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ยังไร้เดียงสาย่อมไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ทั้งสิทธิของจำเลยที่ 2 อันจะพึงได้รับต้องเนิ่นนานออกไป พฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิขอให้จดทะเบียนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 จะคัดค้านและจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะให้ความยินยอมได้ แต่การคัดค้านจะต้องคัดค้านว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้โจทก์จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share