แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ส. ทนายจำเลยเคยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น 2 ครั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตทั้งสองครั้งมาแล้ว ต่อมาเมื่อ ส. ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จึงมอบหมายให้ ท. เป็นทนายว่าความแทนจำนวนหลายคดี จำเลยเคยไปพบ ท. เพื่อปรึกษาคดี 2 ครั้ง โดย ท. เข้าใจผิดว่าได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความของจำเลยแล้ว แสดงว่าจำเลยมีเจตนาแต่งตั้ง ท. เป็นทนายความของจำเลยมาตั้งแต่ก่อนหน้า ท. ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ให้ ท. เป็นทนายความของจำเลย และศาลชั้นต้นได้รับใบแต่งทนายความฉบับใหม่ไว้แล้ว ถือว่าจำเลยได้แก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ถูกต้องนั้นแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธมีดไปในเมืองและฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส รวมจำคุกจำเลย 1 ปี 4 เดือน และปรับ 50 บาท ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งเป็นวันก่อนครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ครั้นถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2545 เมื่อถึงวันครบกำหนด นายเทวัญ ภู่ขวัญ อ้างว่าเป็นทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน อ้างว่าจำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อความละเอียดรอบคอบในการอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นายเทวัญมิได้เป็นทนายจำเลยและศาลเคยอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยแล้วถึงสองครั้งแต่จำเลยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์มาภายในกำหนดที่ศาลอนุญาต และเหตุตามคำร้องไม่ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษ ไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นตรวจพบว่านายเทวัญ ภู่ขวัญ ผู้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มิได้เป็นทนายความของจำเลยก็ควรให้จำเลยแก้ไขให้ถูกต้องก่อน และมีเหตุสมควรอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในจำเลยตามคำร้องนั้น เห็นว่า นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ทนายจำเลยเคยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น 2 ครั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตทั้งสองครั้ง ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏจากฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า นายสันติภาพทนายจำเลยต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดน่าน จึงมอบหมายให้นายเทวัญเป็นทนายว่าความต่อไปจำนวนหลายคดี จำเลยเคยไปพบนายเทวัญเพื่อปรึกษาคดี 2 ครั้ง นายเทวัญเข้าใจผิดว่าได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความของจำเลยแล้ว แสดงว่าจำเลยมีเจตนาแต่งตั้งนายเทวัญเป็นทนายความของจำเลยมาตั้งแต่ก่อนหน้านายเทวัญยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2546 จำเลยก็ยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ให้นายเทวัญเป็นทนายความของจำเลย และศาลชั้นต้นได้รับใบแต่งทนายความฉบับใหม่ไว้แล้ว ถือว่าจำเลยได้แก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ถูกต้องนั้นแล้ว อีกทั้งตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยอ้างว่า เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาเพื่อความละเอียดรอบคอบนั้น เห็นว่า การเรียงอุทธรณ์คู่ความจะต้องตรวจดูข้อความในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อหาข้อโต้แย้ง ผู้อุทธรณ์จึงจำต้องมีสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้ประกอบการเรียงอุทธรณ์ แต่จำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ขอคัดในวันที่ 4 ธันวาคม 2545 ก่อนนายเทวัญยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพียง 12 วัน กรณีตามคำร้องของจำเลยพอถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ศาลชอบที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลย 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง