คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 7 และมาตรา 39กำหนดให้เทศบาลตำบลโจทก์เป็นทบวงการเมือง มีคณะเทศมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72 และนายกเทศมนตรีมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 75 การฟ้องคดีเป็นการบริหารกิจการของเทศบาลอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 กำหนดว่าจะต้องมีการขออนุมัติผู้ใดก่อน นายกเทศมนตรีจึงมีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 3867 และที่ดินโฉนดเลขที่ 15 ให้โจทก์มีเงื่อนไขว่าให้โจทก์สร้างโรงภาพยนตร์ให้จำเลยเช่า และโจทก์ได้สร้างโรงภาพยนตร์ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์โจทก์กำหนดเวลาเช่า 20 ปี ค่าเช่าเดือนละ 12,500 บาท ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ขอให้จำเลยชำระค่าเช่ากับดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุมัติจากสภาเทศบาลหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อ 1 ที่ว่าเทศบาลเมืองพลเป็นผู้เสียหาย นายกเทศมนตรีมิได้รับอนุมัติให้ฟ้องคดี นางวิมาลาในฐานะนายกเทศมนตรีจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนั้นเห็นว่าตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 7 และมาตรา 39กำหนดให้โจทก์เป็นทบวงการเมือง มีคณะเทศมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 72 และนายกเทศมนตรีมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 ที่จะแสดงให้ปรากฏซึ่งความประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล การฟ้องคดีนั้นเป็นการบริหารกิจการของเทศบาลอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 กำหนดไว้ในที่ใดว่าจะต้องมีการขออนุมัติก่อนจากใคร ในเมื่อนางวิมาลาเป็นนายกเทศมนตรีโดยฐานะนี้ จึงมีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ที่จะฟ้องคดีจำเลยได้ ในเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share