แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บุตรและภรรยาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างที่โจทก์ดำเนินคดีอาญากล่าวหาว่า จำเลยบุกรุกครอบครองที่พิพาทของโจทก์ก็ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 เพราะเป็นเพียงการครอบครองแทนผู้ชนะคดี เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ยังไม่เกิน 1 ปีจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อหนังสือมอบอำนาจของ ก. ระบุไว้ชัดแจ้งว่า ก.มอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือได้ว่า ก. ได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1378.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 131 และเลขที่ 140 ตำบลคุยบ้านโอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี 2527 จำเลยทั้งสองถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกข้อหาบุกรุกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่1852/2528 หลังจากพ้นโทษแล้วจำเลยทั้งสองได้มาบุกรุกที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าวอีก ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดิน และส่งมอบให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยได้ครอบครองและทำประโยชน์ปลูกบ้านและไม้ผลยืนต้นไว้ในที่ดินพิพาทมานานแล้ว แม้จำเลยทั้งสองจะถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลนี้แต่บริวารของจำเลยก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทแทนตลอดมาโดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จนได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายแล้ว โจทก์มิได้ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง อีกทั้งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 131 นั้น โจทก์ได้ขายให้แก่นางกิมฮัวไปแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยบุกรุกที่ดินแปลงใดเป็นเนื้อที่เท่าไรและเมื่อใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 131 และ 140 ห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องที่ดินดังกล่าวอีก ให้จำเลยส่งมอบที่ดินให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อปี 2526 จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินเป็นของตนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 131และเลขที่ 140 คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 1 งาน ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่1852/2528 ของศาลชั้นต้น ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ถูกจำคุกอยู่นั้นภรรยาและบุตรของจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่ในบ้านและทำไร่ทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ว่า จำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองที่ดินตามแผนที่พิพาทเอกสารหมายจ.6 จนได้สิทธิครอบครองแล้วหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ถูกจำคุกอยู่นั้นบุตรและภรรยาของจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา จนกระทั่งจำเลยที่ 1 พ้นโทษเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเกิน 1 ปีแล้วจำเลยที่ 1 จึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า แม้บุตรและภรรยาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะได้ครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างที่โจทก์ดำเนินคดีอาญากล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกครอบครองที่พิพาทของโจทก์ก็ตาม แต่ก็จะถือว่าเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 หาได้ไม่เพราะเป็นเพียงการครอบครองแทนผู้ชนะคดีเท่านั้น และปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีอาญาเมื่อวันที่ 20พฤศจิกายน 2529 การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 คดีนี้เมื่อวันที่10 สิงหาคม 2530 จึงยังไม่เกิน 1 ปี จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มีเพียงหนังสือมอบอำนาจของนางกิมฮัว กัทลีรัตน์ ซึ่งระบุว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทคืนจากนางกิมฮัว แต่การซื้อขายที่ดินดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบถึงหนังสือมอบอำนาจของนางกิมฮัวเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งระบุไว้ชัดแจ้งว่านางกิมฮัวมอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือได้ว่านางกิมฮัวได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1377 และมาตรา 1378 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง…”
พิพากษายืน.