คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 48/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขึ้นเป็นประเด็นในคำให้การไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 จึงถือว่าจำเลยที่ 2 มิได้ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ ก็ไม่ยกขึ้นวินิจฉัยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) คณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งสอบสวนเสร็จส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ส่งเรื่องให้อธิบดีโจทก์ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องรับผิดในทางแพ่งอธิบดีของโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2526 ถือว่าโจทก์ได้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2527 ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้างานรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ กำกับควบคุมงานการเงินบัญชีและธุรการสารบรรณทั้งหมด มีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม ใบเสร็จรับเงินค่าภาษี แต่กลับไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาใบเสร็จรับเงิน สมุดทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินเพียงคนเดียวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 ทุจริต นำใบเสร็จรับเงินเล่มที่ยังไม่ถึงกำหนดนำออกใช้ เอาออกมาใช้รับเงินค่าภาษีรถและไม่ลงบัญชีไม่นำส่งเงินตามระเบียบ ได้เบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวมาเป็นเวลานานก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมารับราชการที่สำนักงานเกิดเหตุถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อปัดความรับผิดหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามรับราชการที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 1 ได้นำเอาใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถที่ยังมิได้จ่ายออกใช้ออกมาใช้รับเงินค่าภาษีรวม 39 ฉบับเป็นเงิน 95,572 บาท แล้วยักยอกเอาเงินดังกล่าวไป เหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำดังกล่าวได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 3ประมาทเลินเล่อ ไม่ควบคุมดูแลเก็บรักษาใบเสร็จรับเงิน ไม่ตรวจสอบการใช้ ไม่จัดทำทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินตามระเบียบ ปล่อยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินทั้งหมดที่รับมาจากโจทก์แต่ผู้เดียว เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสลักเอาใบเสร็จรับเงินที่ยังมิได้จ่ายออกใช้นำออกมาใช้ได้ โจทก์ได้รับเงินคืนแล้วจำนวน 8,636 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน86,936 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุคดีนี้เกิดจากการทุจริตของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นตัวแทนโจทก์มีอำนาจควบคุมดูแลหน่วยงานของโจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2525 และได้รับทราบผลการสอบสวนและเห็นชอบให้ดำเนินการกับผู้ต้องรับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2526 อันเป็นวันที่ตัวแทนโจทก์รู้เหตุแห่งการละเมิด และรู้ตัวผู้ต้องรับผิดแห่งละเมิด โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีแล้วจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 86,936บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้เสียหายไม่ใช่โจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 จึงถือว่าจำเลยที่ 2 มิได้ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ จึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะการฟ้องคดีนี้ต้องถือระเบียบการเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการพ.ศ. 2520 ข้อ 73 และมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือ น.ว.155/2503ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2503 ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งคณะกรรมการต้องเสนอผลการสอบสวนระบุตัวผู้รับผิดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เพื่อเรียกให้ผู้รับผิดชดใช้เงิน หากผู้ต้องรับผิดไม่ชดใช้ก็ให้ส่งเรื่องแก่พนักงานอัยการดำเนินคดีได้ทันทีไม่ต้องส่งให้กระทรวงหรือกรมเจ้าสังกัดสั่งการ เพราะจังหวัดอยู่ในฐานะเดียวกับกระทรวงหรือกรมเจ้าสังกัด คดีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดในส่วนแพ่ง เมื่อวันที่ 11เมษายน 2526 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2527เกิน 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าระเบียบต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 2 อ้างขึ้นเป็นเรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้นที่จะฟ้องได้ระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ดังที่จำเลยที่ 2 อ้างเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งสอบสวนเสร็จให้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาและผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ส่งเรื่องให้อธิบดีของโจทก์ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องรับผิดในทางแพ่ง ซึ่งมีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย เมื่อวันที่23 มิถุนายน 2526 และอธิบดีของโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2526 ถือว่าโจทก์ได้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2527ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อเพราะจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินและสมุดทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันต่อมาทั้งคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่แต่งตั้งจำเลยที่ 2เป็นหัวหน้างานการเงิน ไม่ได้มอบหมายให้มีหน้าที่เก็บรักษาใบเสร็จรับเงิน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ตามคำสั่งที่30/2524 ข้อ 5 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีได้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้างานรับผิดชอบการปฏิบัติราชการกำกับควบคุมงานการเงินบัญชีและธุรการสารบรรณทั้งหมดให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบงานดังกล่าวทั้งหมดจะอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินทั้งหมดหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งโดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1เป็นผู้เก็บรักษาใบเสร็จรับเงิน สมุดทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินเพียงคนเดียว จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวมาเป็นเวลานานก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมารับราชการที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหาได้ไม่และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 จะปัดความรับผิดไม่ได้และที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ได้ตรวจสอบเงินและใบเสร็จรับเงินตรงในลำดับที่ใช้ประจำวันทุกวัน ปรากฏหลักฐานจำนวนเงินและหลักฐานทางบัญชีตรงกันการที่จำเลยที่ 1 ทุจริตครั้งนี้เป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จำเลยที่ 2จะพึงระมัดระวังได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520ข้อ 8 ตามเอกสารหมาย จ.6 (แผ่นที่ 68) ซึ่งข้อ 8 มีข้อความระบุว่าให้ส่วนราชการจัดทำทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงิน… ได้จ่ายใบเสร็จรับเงินเล่มใด หมายเลขใดถึงหมายเลขใดให้… หรือเจ้าหน้าที่ผู้ใดเมื่อวัน เดือน ปีใด ในเรื่องนี้โจทก์ได้นำสืบแล้วว่าจำเลยที่ 2ได้รับคำสั่งให้เป็นหัวหน้างานการเงิน บัญชี และธุรการสารบรรณทั้งหมดและจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบพัสดุต่าง ๆ จากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ที่ส่งโดยทาง ร.ส.พ. ตามคำสั่งที่ 46/2524 เอกสารหมาย จ.6แผ่นที่ 15 และเอกสารดังกล่าวแผ่นที่ 16 มีรายการพัสดุต่าง ๆที่คณะกรรมการตรวจรับคือลำดับที่ 9 เป็นใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม200 เล่ม ลำดับที่ 10 เป็นใบเสร็จรับเงินค่าภาษี 200 เล่มรวมอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาไว้แต่จำเลยที่ 2กลับละเว้นปล่อยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บไว้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 ทุจริตนำใบเสร็จรับเงินเล่มที่ยังไม่ถึงกำหนดนำออกใช้ เอาออกมาใช้รับเงินค่าภาษีรถและไม่ลงบัญชีไม่นำส่งเงินตามระเบียบได้เบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 โดยตรงไม่ใช่เหตุพ้นวิสัยดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง
พิพากษายืน

Share