แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในเรื่องซื้อขายที่ดินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมการที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยบางส่วนในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันว่าส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอน โดยมิได้กำหนดเวลาวันโอนไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่4 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2517 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 2428 ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ได้แยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 1 งาน 52ตารางวา แก่โจทก์ในราคา 7,800 บาท โดยยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองและได้รับเงินจากโจทก์ในวันทำสัญญา 4,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะชำระในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2518 ต่อมาจำเลยได้รับเงินค่าซื้อที่ดินจากโจทก์ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2528 จำนวน 3,000 บาทอีก 800 บาท โจทก์จะชำระให้เมื่อทำการโอน โจทก์ได้ติดต่อทวงถามและมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์อ้างว่าชำระเงินตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้เรียกร้องหรือฟ้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2518ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์สามารถนำเงินค่าซื้อที่ดินจำนวน 800 บาท ไปชำระให้จำเลยและบังคับให้จำเลยโอนที่ดินได้ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องไป โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 12 มิถุนายน 2533เกิน 10 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองแสนบาทจำเลยฎีกาได้เฉพาะแต่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเฉพาะส่วนจากจำเลยในวันที่ 19 มีนาคม 2517 ในราคา 7,800 บาทชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลยในวันทำสัญญา 4,000 บาท ที่เหลืออีก3,800 บาท จะชำระในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2518 ครั้นถึงกำหนดวันที่1 กุมภาพันธ์ 2518 จำเลยไม่มารับเงิน แต่มารับเงินในวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2518 จำนวน 3,000 บาท ที่เหลืออีก 800 บาท ตกลงกันว่าจะชำระในวันโอน โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 12 มิถุนายน 2533 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในเรื่องซื้อขายที่ดินมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมการที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลย 3,000 บาท ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันว่าส่วนที่เหลืออีก 800 บาท จะชำระในวันโอนโดยมิได้กำหนดเวลาวันโอนไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม ซึ่งนับถึงวันฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2533 เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความมิใช่เริ่มนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะมีการบอกกล่าวก่อนตามฎีกาของโจทก์ ทั้งปรากฏตามฟ้องว่า โจทก์เพิ่งมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 หลังครบกำหนด 10 ปีแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน