คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10662/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่งอกที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าวย่อมถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308
จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่น้ำทะเลท่วมถึง ต่อมามีท่าเทียบเรือของเอกชนก่อสร้างยื่นลงไปในทะเล ที่ดินดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่ตอนหลังกลับให้การว่า หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว คำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของโจทก์ อันเป็นการขัดแย้งกันเองเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 มิได้ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหายหรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะเป็นคำขอที่มีผลต่อเนื่องจากคำขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท อันเป็นคำขอประธานเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอนาคตในชั้นฎีกาอีกส่วนหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2544 โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19863 ของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกโรงเรือน 1 หลัง สร้างรั้วลวดหนามล้อมที่ดินและปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ ในที่ดินดังกล่าวรวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ หากโจทก์ให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 10,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 19863 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองและบริวารไม่รื้อถอน ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเองโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์น้ำทะเลท่วมถึง ต่อมามีการก่อสร้างท่าเทียบเรือของเอกชนยื่นลงไปในทะเล ทำให้ที่ดินพิพาทและที่ดินในละแวกใกล้เคียงตื้นเขินอย่างรวดเร็วมิได้งอกโดยธรรมชาติ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เมื่อประมาณปี 2520 ชาวบ้านเข้าไปจับจองทำกินในที่ดินละแวกใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทอย่างเป็นสัดส่วน จำเลยที่ 1 ก็ได้เข้าจับจองทำกินในที่ดินพิพาทด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านหากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้บุกรุกที่ดินพิพาท สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 19863 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ตามรูปที่ดินภายในกรอบเส้นสีเขียวของแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท ให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เพราะเป็นที่งอกริมตลิ่งหรือไม่ และในประเด็นที่สองว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ สำหรับประเด็นแรกข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าทางราชการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 19863 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2532 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 เข้าปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 84 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 19863 ตามหมายสีเขียวหมายเลข 1 ในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ทางราชการได้ทำบันทึกการได้มาซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 19863 ของโจทก์ว่าโจทก์ได้มาโดยเป็นที่งอกโดยธรรมชาติ มีหลักฐานคือโฉนดที่ดินเลขที่ 18449, 18454, 18455 และ 18036 คณะกรรมการตรวจสภาพที่ดินได้ตรวจสอบที่ดินแล้วมีความเห็นว่าที่ดินแปลงนี้ตื้นเขินโดยธรรมชาติ พ้นสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.3 เหตุที่ที่ดินบริเวณที่ดินพิพาทเกิดที่งอกเนื่องจากเมื่อประมาณปี 2511 บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ได้ก่อสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทางทิศเหนือของที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายชายฝั่งเกิดที่งอกจากชายฝั่งออกไปในทะเล โดยโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติโดยแท้ แต่เกิดจากการสร้างเขื่อนหินซึ่งสร้างโดยแรงงานมนุษย์ยื่นลงไปในทะเลขวางกระแสน้ำเป็นเหตุให้มีการสะสมตะกอนทรายตรงบริเวณเขื่อนหินทางด้านทิศใต้จำนวนมากและอย่างรวดเร็วอันเป็นการผิดธรรมชาติ ที่งอกดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้น เห็นว่า แม้ที่งอกอันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้จะเกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลทางทิศเหนือของที่ดินของโจทก์ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าวก็ถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่น้ำทะเลท่วมถึง ต่อมามีท่าเทียบเรือของเอกชนก่อสร้างยื่นลงไปในทะเล เป็นเหตุที่ดินพิพาทตื้นเขินขึ้นอย่างรวดเร็ว มิได้งอกตามธรรมชาติที่ดินดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่ตอนหลังกลังให้การว่าหากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของโจทก์ อันเป็นการขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 มิได้ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 5,300 บาท เสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 5,500 บาท และที่จำเลยที่ 1 เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 10,500 บาท จึงไม่ถูกต้อง กับแม้ฎีกาของจำเลยที่ 1 จะมีคำขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหายหรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะเป็นคำขอที่มีผลต่อเนื่องจากคำขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากถิ่นพิพาท อันเป็นคำขอประธานเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอนาคตในชั้นฎีกาอีกส่วนหนึ่งต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาดังกล่าวแก่โจทก์และจำเลยที่ 1”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมาแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share