คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า ลงวันที่ 15 มีนาคม 2463 ใช้แต่เฉพาะกับศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในที่ดินซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ปกปักรักษาเท่านั้น ผู้ใดจะอุทิศที่ดินของตนที่มีศาลเจ้าตั้งอยู่แล้วให้เป็นสมบัติของศาลเจ้าโดยสิทธิ์ขาดต้องยื่นเรื่องราวเป็น ลายลักษณ์อักษรพร้อมทั้งหน้าโฉนด อ. ทำหนังสือยกที่ดินของตนที่มีศาลเจ้าตั้งอยู่แล้วให้แก่กรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนโฉนดให้แก่กัน การอุทิศที่ดินของ อ. จึงยังไม่มีผลให้ตกเป็นสมบัติสำหรับศาลเจ้าโดยสิทธิ์ขาด และที่ดินของ อ. ยังไม่ตกมาอยู่ในความปกครองรักษาของรัฐบาล ศาลเจ้านี้จึงไม่อยู่ใสบังคับแห่งกฎเสนาบดีดังกล่าว ดังนั้นการตั้งและถอนผู้จัดการปกครองศาลเจ้าและผู้ตรวจตราสอดส่องที่บัญญัติไว้จึงนำมาใช้บังคับในเรื่องนี้ไม่ได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการปกครอง และไม่มีอำนาจตั้ง อ. เป็นผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้าดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (อ้างฎีกาที่ 310/2483)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว (ฮะเฮงตั้ว) ตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๖๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ได้ไปขอจดทะเบียนมูลนิธิโดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิแป๊ะโค้วเซี่ยงงี่ (ฮะเฮงตั้ว)” และแจ้งว่าทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นของมูลนิธิ ซึ่งความจริงทรัพย์สินดังกล่าวเป็นตัวอาคารศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว (ฮะเฮงตั้ว) เจ้าพนักงานหลงเชื่อจดทะเบียนจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยกับพวกได้เข้าไปในศาลเจ้าและดำเนินการ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าศาลเจ้าดังกล่าวเป็นกิจการหรือทรัพย์สินของจำเลย และขัดขวางมิให้โจทก์ในฐานะผู้ปกครองศาลเจ้าได้เข้าจัดในกิจทั่วไป ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเลิกใช้ชื่อ “แป๊ะโค้วเซี่ยงงี่ (ฮะเฮงตั้ว)” เป็นชื่อมูลนิธิจำเลย ห้ามจำเลยกับพวกเข้าเกี่ยวข้องในกิจการและทรัพย์สินของศาลเจ้า
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ที่โจทก์เรียกว่าศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว (ฮะเฮงตั้ว) นั้นความจริงเป็นเพียงโรงเจที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น ต่อมาได้พร้อมใจกันสนับสนุนให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจำเลยที่ ๑ ทรัพย์สินต่าง ๆ ของโรงเจจึงตกเป็นของมูลนิธิ การจัดตั้งศาลเจ้าของโจทก์มิได้เป็นไปตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า โจทก์ไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างว่าทรัพย์สินเป็นของศาลเจ้า และไม่มีสิทธิ์ห้ามจำเลยใช้ชื่อ “แป๊ะโค้วเซี่ยงงี่ (ฮะเฮงตั้ว)” กับห้ามมิให้เกี่ยวข้องในกิจการของมูลนิธิ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตั้งศาลเจ้าได้อุทิศที่ดินให้เป็นสมบัติของศาลเจ้าโดยสิทธิ์ขาด ศาลเจ้าดังกล่าวจึงอยู่ในความปกปักรักษาของรัฐบาล ตามนัยแห่งกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่มีสิทธิ์เอาชื่อของศาลเจ้าไปใช้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล พิพากษาให้จำเลยเลิกใช้ชื่อแป๊ะโค้วเซี่ยงงี่ (ฮะเฮงตั้ว) เป็นชื่อมูลนิธิจำเลย ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในกิจการและทรัพย์สินของศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว (ฮะเฮงตั้ว)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทางราชการรับจดทะเบียนมูลนิธิจำเลยที่ ๑ ก่อนที่นายอุดม วงศ์อุไร จะอุทิศที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงเจโดยสิทธิ์ขาด การอุทิศที่ดินของนายอุดมมีความหมายว่ายกให้กับมูลนิธินั่นเอง การใช้ชื่อของศาลเจ้าเป็นชื่อของมูลนิธิมิได้ทำให้ประชาชนหลงผิดหรือกระทบกระเทือนต่อกิจการของศาลเจ้า เจ้าพนักงานที่รัฐบาลแต่งตั้งไม่มีอำนาจหน้าที่จะห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อมูลนิธิที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีอำนาจห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องในกิจการและทรัพย์สินของศาลเจ้า พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้าลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๖๓ ข้อ ๑ บัญญัติว่า กฎเสนาบดีนี้ใช้เฉพาะแต่ศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในที่ดินซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ปกปักรักษาเท่านั้น ผู้ใดจะอุทิศที่ดินของตนที่มีศาลเจ้าตั้งอยู่แล้วให้เป็นสมบัติของศาลเจ้าโดยสิทธิ์ขาด ต้องยื่นเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมทั้งหน้าโฉนดดังที่บัญญัติไว้ในข้อ ๕ คดีนี้นายอุดม วงศ์อุไร ทำหนังสือยกที่ดินของตนที่มีศาลเจ้าที่พิพาทกันนี้ตั้งอยู่แล้วให้แก่กรุงเทพมหานคร แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนโฉนดให้แก่กัน เห็นว่าการอุทิศที่ดินของนายอุดมยังไม่มีผลให้ตกเป็นสมบัติสำหรับศาลเจ้าโดยสิทธิ์ขาด ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๐/๒๔๘๓ ระหว่างนายคั่ย อวัยวานนท์ฯ โจทก์ นายจิตร ประทุม จำเลย ที่ดินของนายอุดมจึงไม่ตกมาอยู่ในความปกครองรักษาของรัฐบาล และศาลเจ้าจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎเสนาบดีดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๓ ฉะนั้น การตั้งและถอนผู้จัดการปกครองศาลเจ้าและผู้ตรวจตราสอดส่องในข้อ ๑๑ ถึง ๑๙ จึงจะนำมาใช้บังคับในเรื่องนี้ไม่ได้ เหตุนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงไม่มีอำนาจตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการปกครองและไม่มีอำนาจตั้งนายอุดมเป็นผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้าดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคดี
พิพากษายืน.

Share