คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หญิงมีสามีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟ้องคดีในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี
เรื่องการฟ้องคดี ไม่จำเป็นต้องมีระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล
ในชั้นชี้สองสถาน ประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้มีแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 หรือจำเลยร่วมเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้แถลงคัดค้านแต่อย่างไร จึงต้องถือว่ายอมรับตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ที่จำเลยที่ 1 กลับมาอุทธรณ์ว่าจำเลยร่วมเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทโดยการเชิดให้จำเลยที่ 1 เข้าประมูลรับเหมาก่อสร้างและจำเลยที่ 2 สั่งซื้อของจากโจทก์ในนามของจำเลยร่วม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น.ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารโดยมอบหมายโดยปริยายให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน และจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนกัน จำเลยที่ 2 ได้ซื้อเชื่อวัสดุก่อสร้างไปจากโจทก์ ค้างชำระอยู่เป็นเงิน 100,221.50 บาท แล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามีไม่ได้รับความยินยอมจากสามีไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างแทนนายไพศาล สัจจะรักษ์ การจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและการดำเนินงานก่อสร้างนายไพศาลดำเนินการเอง จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2ซื้อวัสดุก่อสร้างและไม่เคยเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างจำเลยที่ 2 เป็นเพียงลูกจ้างจำเลยที่ 1 และได้รับมอบหมายให้ควบคุมการก่อสร้างทั้งซื้อวัสดุก่อสร้างแทน จึงไม่ต้องรับผิด

จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกนายไพศาล สัจจะรักษ์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาแทนการดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทและการซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการแทน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 100,221.50 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนจำเลยร่วมให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาขึ้นมาว่า แม้โจทก์จะเป็นห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่ตัวนางสุวภีภิญโญสโมสร หุ้นส่วนผู้จัดการก็ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมีหน้าที่ในกิจการเฉพาะการค้าขายสินค้าและไม่มีวัตถุประสงค์ระบุไว้ จึงไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของห้างฯ อันเป็นการแสดงว่าฟ้องในฐานะส่วนตัวและมิได้รับความยินยอมจากสามีนั้น ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้นางสุวภี ภิญโญสโมสร หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจิตต์แสงชัยแพร่ จะเป็นหญิงมีสามีก็ตามและแม้การฟ้องคดีนี้จะมิได้รับความยินยอมจากนายสุข ภิญโญสโมสร สามีก็เป็นการฟ้องในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว ซึ่งไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากสามีแต่ประการใด ทั้งในเรื่องการฟ้องคดี ไม่จำเป็นที่จะต้องมีระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลแต่ประการใดฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปอีกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้ออะไรบ้าง มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 สั่งซื้อจริงหรือไม่เป็นแต่อ้างว่าค้างเป็นเงินอยู่เท่าไรเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถแก้ฟ้องได้ถูกต้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนและหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าจากห้างโจทก์สำหรับนำไปใช้ในการก่อสร้างและยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 2ชดใช้ให้แก่โจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปอีกว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างธนาคารออมสินรายพิพาทโดยการเชิดให้จำเลยที่ 1 เข้าประมูลรับเหมาก่อสร้างและจำเลยที่ 2 สั่งซื้อของจากโจทก์ในนามของจำเลยร่วมจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดร่วมนั้น ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในชั้นชี้สองสถานประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็มีแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 หรือจำเลยร่วมเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าของโจทก์เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้แถลงคัดค้านแต่อย่างใด จึงต้องถือว่ายอมรับตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share