คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลแรงงานกลาง และเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของ ป.รัษฎากรฯ ข้อ 7 กำหนดว่ากรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และกรณี (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท การที่โจทก์มอบอำนาจและแต่งตั้งให้ ล. และ/หรือ ส. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับจำเลย… ย่อมมีความหมายว่า ล. และ ส. จะร่วมกันกระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ด้วยกันก็ได้ หรืออีกกรณีหนึ่ง ล. หรือ ส. เพียงคนใดคนหนึ่งก็มีอำนาจกระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้เช่นเดียวกัน และการมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยผู้รับมอบอำนาจทั้งสองจะกระทำการร่วมกันหรือต่างคนต่างกระทำการแยกกันได้ ค่าอากรแสตมป์สำหรับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงต้องเสียคนละ 30 บาท รวม 60 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7 (ค) ท้าย ป.รัษฎากรฯ แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเพียง 30 บาท ซึ่งไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากรฯ มาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์โดยนายลาร์ส ธอร์เซ่น และนายแม็ทส์ ปีเตอร์ โกสทา ฟอร์แมน มอบอำนาจให้นายลาร์ส ธอร์เซ่น หรือนายสันติ จินตวนิช ดำเนินคดีแทนจำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ต่อมาได้ลาออกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 ระหว่างทำงานกับโจทก์ จำเลยมีตำแหน่งเป็นพนักงานจัดซื้อ มีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าแทนโจทก์ เพื่อให้โจทก์นำสินค้าไปขายแก่ลูกค้าของโจทก์ที่อยู่ต่างประเทศ โจทก์มีระเบียบและแนวทางปฏิบัติในการทำงานว่า ห้ามพนักงานหาประโยชน์จากคู่ค้าของโจทก์ เช่น เรียกเงินค่าตอบแทนจากผู้ขาย (ค่าคอมมิชชัน) เมื่อระหว่างปี 2540 ถึงกลางปี 2542 จำเลยโดยเจตนาทุจริตได้หลอกลวงบริษัทคู่ค้าของโจทก์รวม 5 บริษัท ว่าบริษัทแต่ละรายจะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 4 หรือร้อยละ 5 ของยอดที่โจทก์สั่งซื้อแต่ละงวดเพื่อจ่ายให้แก่ผู้บริหารของโจทก์ หากไม่ยอมจ่ายผู้บริหารของโจทก์จะไม่สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายรายนั้น บริษัททั้งห้าดังกล่าวหลงเชื่อจึงโอนเงินให้จำเลยทุกครั้งที่ขายสินค้าแก่โจทก์ เป็นเงินรวม 8,062,999.90 บาท จำเลยได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้บริษัทคู่ค้าของโจทก์ต้องเพิ่มราคาสินค้าที่จะขายแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 4 หรือร้อยละ 5 ตามที่จำเลยเรียกร้อง หรือไม่ลดราคาสินค้าให้แก่โจทก์เท่ากับจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายแก่จำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 8,062,999.90 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตผิดระเบียบและข้อบังคับการทำงานของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 8,446,936.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของนายจ้างรวมเป็นเงิน 624,820.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้โจทก์รับจำเลยเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างและสิทธิประโยชน์คงเดิม หากไม่ประสงค์จะรับจำเลยเข้าทำงานอีก ขอให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 11,715,840 บาท และให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจากการนำชื่อและรูปถ่ายของจำเลยไปประกาศหนังสือพิมพ์หลังจากเลิกจ้างจำเลยแล้ว ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นคนไม่ดีจำนวน 2,000,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยลาออกจากงานไปเอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าแทนโจทก์ ในระหว่างการทำงานจำเลยได้เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นคู่ค้าของโจทก์รวม 5 บริษัทตามฟ้อง จ่ายเงินให้แก่จำเลยในการที่โจทก์สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทคู่ค้าของโจทก์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์มิได้เป็นผู้ขายสินค้าที่ซื้อจากบริษัทคู่ค้าแก่บุคคลทั่วไป โจทก์เพียงรับซื้อสินค้าไว้แล้วขายต่อให้บริษัทในกลุ่มเดียวกัน ความเสียหายจากการที่จะต้องซื้อสินค้าแพงเพราะบริษัทคู่ค้าต้องจ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยจึงไม่เกิดขึ้น ส่วนความเสียหายอย่างอื่นก็ไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับความเสียหายเป็นเงิน 8 ล้านบาทตาทฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “กรณีเห็นสมควรยกอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2 ที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ขึ้นมาวินิจฉัยก่อน สำหรับปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลแรงงานกลาง และเพิ่งจะยกขึ้นโต้เถียงคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 พิเคราะห์ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้ว เห็นว่า สำหรับใบมอบอำนาจนั้น บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของประมวลรัษฎากรกำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และกรณี (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ว่า โจทก์มอบอำนาจและแต่งให้นายลาร์ส ธอร์เซ่น และ/หรือนายสันติ จินตวนิช เป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ฟ้องร้องดำเนินคดี ต่อสู้คดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา กับนางชมนาถ ภักดี (จำเลย) และมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อว่าต่างในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งในศาลและนอกศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา ตลอดจนมีอำนาจรับเงิน ทรัพย์สินหรือเอกสารจากพนักงานเจ้าหน้าที่จากศาล จากการบังคับคดีหรือจากคู่ความ… สำหรับข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวที่ระบุไว้ว่า “มอบอำนาจและแต่งตั้งให้นายลาร์ส ธอร์เซ่น และ/หรือนายสันติ จินตวนิช เป็นผู้รับมอบอำนาจ” นั้น มีความหมายว่านายลาร์ส ธอร์เซ่น และนายสันติ จินตวนิช จะร่วมกันกระทำการในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ด้วยกันก็ได้ หรืออีกกรณีหนึ่งนายลาร์ส ธอร์เซ่น หรือสันติ จินตวนิช เพียงคนใดคนหนึ่งก็มีอำนาจกระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้เช่นเดียวกัน และการมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยผู้รับมอบอำนาจทั้งสองจะกระทำการร่วมกันหรือต่างคนต่างกระทำการแยกจากกันได้ ค่าอากรแสตมป์สำหรับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้ายประมวลรัษฎากร กล่าวคือ ต้องปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท รวม 60 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เพีง 30 บาท เท่านั้น จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์ในเอกสารดังกล่าวไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายลาร์ส ธอร์เซ่น และ/หรือนายสันติ จินตวนิช ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ นายลาร์ส ธอร์เซ่น และ/หรือนายสันติ จินตวนิช จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share