คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4325/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพที่ยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า แต่หากผู้ยื่นคำขอดังกล่าวมีเหตุอันสมควรหรือมีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไม่ได้ เมื่อตามบัตรประกันสังคมไม่มีข้อความใดที่บอกให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประกันตนได้ทราบว่าต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน แต่ข้อความนี้กลับมีระบุไว้เป็นคำเตือนในแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน ซึ่งลูกจ้างผู้ประกันตนจะเห็นคำเตือนให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปีนี้ได้ก็ต่อเมื่อมายื่นคำขอเท่านั้น ซึ่งเป็นการเห็นที่ไม่ก่อให้เกิดการรับรู้ก่อนการยื่นคำขอ ดังนั้น จึงมีเหตุอันสมควรที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ทราบว่าต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน และมีเหตุอันสมควรที่โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นคำขอล่าช้า จึงนำระยะเวลาที่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพราะไม่ทราบว่ามีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพและต้องยื่นคำขอภายใน 1 ปี มาตัดสิทธิของโจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 822/2546 และให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพกรณีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำขอก่อนที่กำหนดเวลาที่ต้องยื่นคำขอสิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 84 ทวิ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 22 (6) ประกอบมาตรา 56 วรรคหนึ่ง คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 822/2546 ลงวันที่ 2 กันยายน 2546 และให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนเงินบำเหน็จชราภาพกรณีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเกินกำหนด 1 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพหรือไม่ เห็นว่า หากผู้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน ตามปกติบุคคลนั้นย่อมเสียสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาดก็ต้องแปลว่าการที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้นต้องเป็นกรณ๊ที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุอันสมควรหรือมีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่ ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนทันทีโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง นายจ้างต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างนำส่งจำเลยตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง และเมื่อเงินดังกล่าวถูกนำส่งกองทุนประกันสังคมก็ตกเป็นของจำเลยทันทีโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 23 การกระทำทั้งหมดนับแต่ลูกจ้างต้องเป็นผู้ประกันตนถึงการนำเงินที่หักจากค่าจ้างของลูกจ้างเป็นเงินสมทบนำส่งกอบทุนประกันสังคมเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับจำเลยทั้งสิ้น ตัวลูกจ้างหามีส่วนร่วมกระทำด้วยไม่ เพียงแต่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้กับนายจ้างเท่านั้น ลูกจ้างคงได้รับเพียงบัตรประกันสังคมที่จำเลยออกให้ เมื่อตามบัตรประกันสังคมที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2534) มีคำเตือนอีกข้อหนึ่งว่าผู้ใดเก็บบัตรได้ให้ส่งคืนจำเลย และด้านหลังของบัตรตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2541) มีช่องลายมือชื่อของผู้ประกันตน ไม่มีข้อความใดที่บอกให้ลูกจ้างผู้ประกันตนได้ทราบว่าต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน แต่ข้อความนี้กลับมีระบุไว้เป็นคำเตือนในแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนที่ออกโดยระเบียบของจำเลยในปี 2538 ปี 2542 ปี 2544 (ฉบับที่ 2) ปี 2545 ปี 2547 และปี 2547 (ฉบับที่ 2) ซึ่งลูกจ้างผู้ประกันตนจะเห็นคำเตือนให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปีนี้ได้ ก็ต่อเมื่อมายื่นคำขอเท่านั้น ซึ่งเป็นการเห็นที่ไม่ก่อให้เกิดการรับรู้ก่อนการยื่นคำขอ ดังนั้น จึงมีเหตุอันสมควรที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ทราบว่าต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน และมีเหตุอันสมควรที่โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นคำขอล่าช้า จึงนำระยะเวลาที่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพราะไม่ทราบว่ามีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพและต้องยื่นคำขอภายใน 1 ปี มาตัดสิทธิของโจทก์ไม่ได้”
พิพากษายืน

Share