แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งฝ่ายทหารให้มาฟังการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นทหารตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทยนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ พวกของจำเลยมีและใช้อาวุธมีดปลายแหลมในการกระทำผิดแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธ ดังนั้น การที่พวกของจำเลยมีและใช้อาวุธมีดปลายแหลมดังกล่าว จะถือว่าจำเลยร่วมกับพวกพกพาอาวุธมีดปลายแหลมนั้นไปในทางสาธารณะ ในหมู่บ้านด้วย หาได้ไม่ จำเลยทำร้ายและฆ่าผู้ตายโดยเจตนาให้พวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ดังนี้ การที่จำเลยกับพวกปลดเอาทรัพย์ของผู้ตายก่อนหลบหนีเห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ มิใช่ฐานปล้นทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงดทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,276, 277 ตรี, 295, 340, 340 ตรี, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 45 และคืนของกลางให้แก่ผู้มีสิทธิ กับให้จำเลยทั้งสี่คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้มีสิทธิ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาเข้ารับราชการทหารแทนผู้อื่น และให้การปฏิเสธข้อหาอื่น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 276, 277 ตรี, 288, 289, 295, 340, 340 ตรี, 371พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 45 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ให้ประหารชีวิต ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ฐานปล้นทรัพย์ฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะ ฐานรับราชการทหารแทนผู้อื่น เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว ไม่อาจบวกโทษในความผิดฐานอื่นอีก จึงไม่กำหนดโทษฐานอื่น จำเลยที่ 1 ให้การรับชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 คืนของกลางแก่ผู้มีสิทธิ ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้มีสิทธิ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นทหารประจำการ พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งให้ฝ่ายทหารร่วมฟังการสอบสวนด้วยตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบนั้นเห็นว่า ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบทั้งตามคำให้การพยานและผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนที่ดจทกือ้างส่งศาลก็ปรากฏเพียงว่าฝ่ายทหารร่วมฟังการสอบสวนด้วยไม่ตลอดเท่านั้นระหว่างเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับจ้างผู้อื่นเข้ารับราชการเป็นทหารประจำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย จำเลยที่ 1 หาได้เป็นทหารประจำการโดยชอบซึ่งจะต้องแจ้งให้ฝ่ายทหารร่วมฟังการสอบสวนด้วยตามข้อตกลงดังกล่าวไม่ การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายทั้งสองอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายและฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยกระทำทารุณโหดร้าย การที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราและฆ่าผู้ตาย 2 คนดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิด 2กรรม ส่วนความผิดฐานพาอาวุธมีดปลายแหลมไปในทางสาธารณะในหมู่บ้านโดยไม่รับอนุญาตและความผิดฐานปล้นทรัพย์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดด้วยนั้นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความว่ามีคสร้ายเพียง 2 คน คือคนร้ายที่คุมตัวนางนางและคนร้ายที่คุมตัวนางติว ใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่นางนางและนางติวในขณะที่จำเลยที่ 1 จับนางสาวสมพรผู้ตายไปทางหลังบ้าน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1มีอาวุธใด ๆ การที่คนร้ายซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 1 มีและใช้อาวุธมีดปลายแหลมดังกล่าว จะถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกพกพาอาวุธมีดปลายแหลมนั้นไปในทางสาธารณะ ในหมู่บ้านตามฟ้องหาได้ไม่ ส่วนความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งนางนางเบิกความว่า เมื่อไปดูศพผู้ตายทั้งสองปรากฏว่าทรัพย์สินที่ติดตัวผู้ตายทั้งสองสูญหายไปนั้น เมื่อพิเคราะห์ประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพว่า เมื่อร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราและทำร้ายผู้ตายทั้งสองจนแน่นิ่งไปแล้ว ก่อนหลบหนีได้ร่วมกันปลดเอาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองไป จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลดเอาสร้องคอทองคำ นาฬิกาข้อมือของนางสาวสมพรผูัตาย และปลดเอานาฬิกาข้อมือของนางสมภารผู้ตายไปด้วยตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวก ปลดเอาทรัพย์ที่ติดตัวผู้ตายทั้งสองไป พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายและฆ่าผู้ตายทั้งสองก็โดยเจตนาให้พวกของจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายทั้งสองเท่านั้น มิได้ทำร้ายและฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยเจตนาปล้นทรัพย์ และการที่จำเลยที่ 1 กับพวกปลดเอาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองไปก่อนหลบหนีนั้น เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น คือขณะที่จำเลยที่ 1 กับพวกกำลังจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพกพาอาวุธมีดปลายแหลมไปในทางสาธารณะ ในหมู่บ้าน โดยไม่รับอนุญาตและปล้นทรัพย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคสอง, 277 ตรี, 289, 335 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 45 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2516 มาตรา 11 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 7, 8 เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้ตายและข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายคนหนึ่งซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 และมาตรา 276 วรรคสอง, 277 ตรี นั้นเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดดังกล่าวทั้งสองฐานมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 รวม 2 กระทง ให้ประหารชีวิตทั้งสองกระทง ส่วนความผิดฐานอื่นจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานลักทรัพย์จำคุก 6 ปี ฐานรับราชการทหารแทนผู้อื่น จำคุก 1 ปีจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 หนึ่งในสาม และเฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติรบราชการทหารลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษฐานฆ่านางสมภารผู้ตาย จำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านางสาวสมพรผู้ตาย จำคุกตลอดชีวิต ฐานลักทรัพย์จำคุก 4 ปี ฐานรับราชการทหารแทนผู้อื่นจำคุก 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วเป็นจำคุกตลอดชีวิตให้ยกฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์และพาอาวุธมีดปลายแหลมไปในทางสาธารณะและในหมู่บ้านโดยไม่รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.