แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กระบวนพิจารณาคดีแรงงานนั้น หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก็ชอบที่จะยื่นก่อนวันนัดพิจารณา ถ้ามิได้ยื่นไว้ในวันพิจารณาจำเลยจะให้การต่อศาลแรงงานด้วยวาจา ให้ศาลแรงงานจดบันทึกก็ได้ คำให้การดังกล่าวต่างก็เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นหากจำเลยประสงค์จะให้การในเรื่องหนึ่งเรื่องใดอีก ก็ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179, 180 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โดยจะต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลแรงงานเพื่อพิจารณาสั่งตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยให้การด้วยวาจาในวันนัดพิจารณาซึ่งศาลแรงงานจดบันทึกไว้แล้ว ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลแรงงานอีก โดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบศาลแรงงานย่อมไม่รับคำให้การที่ยื่นนั้น.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างร่วมกันชำระค่าล่วงเวลา ค่าจ้างพร้อมเงินเพิ่ม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินค้ำประกันให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย
ในวันนัดพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การด้วยวาจาว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลาคิดมาไม่ถูกต้อง เงินค้ำประกันก็ไม่ถูกต้อง
ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การเป็นหนังสือ โดยมีข้อความโต้แย้งอัตราเงินเดือน วันหยุดงานชั่วคราว และการทำงานล่วงเวลา กับต่อสู้ว่าเป็นฟ้องซ้ำ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า สำเนาให้โจทก์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้ ให้การด้วยวาจาไว้แล้ว จำเลยจะให้การอีกไม่ได้นอกจากขอแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งต้องทำก่อนวันสืบพยาน และคำให้การนี้ มิใช่คำขอแก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่รับคำให้การ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย กับเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาเพียงประการเดียวว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำให้การเป็นหนังสือหลังจากที่ได้ให้การด้วยวาจาไว้แล้วหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามคำให้การเป็นหนังสือของจำเลยนั้นจำเลยได้ให้การต่อสู้ในเรื่องฟ้องซ้ำไว้ด้วยเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับจึงมิได้กำหนดประเด็นในเรื่องฟ้องซ้ำไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาตลอดมาจนมีคำพิพากษาจึงไม่ชอบ พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่า จำเลยได้ให้การต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาและศาลแรงงานกลางได้บันทึกคำให้การของจำเลยไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๙ และให้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๘ และ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๐ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือดังกล่าวซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า สำเนาให้โจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้ให้การด้วยวาจาไว้แล้วเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๙ จำเลยจึงยื่นคำให้การอีกไม่ได้ นอกจากจะแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การซึ่งต้องทำก่อนวันสืบพยานและคำให้การนี้มิใช่คำขอแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่รับคำให้การ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างกับคดีแพ่งธรรมดา การดำเนินคดีจะต้องเป็นไปโดยสะดวกประหยัด และรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๗ จึงกำหนดว่า เมื่อศาลแรงงานรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกำหนดวันเวลาในการพิจารณาและออกหมายเรียกจำเลย และจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือจำเลยก็ชอบที่จะต้องยื่นก่อนวันนัดพิจารณา แต่ถ้าหากจำเลยมิได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือไว้ดังกล่าวจำเลยก็หาหมดสิทธิที่จะให้การต่อสู้คดีเสียเลยไม่โดยความในมาตรา ๓๙ กำหนดไว้ว่า ในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลยแล้วอ่านให้คู่ความฟัง และให้ลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งหมายความว่าในวันนัดพิจารณา จำเลยยังมีสิทธิให้การต่อศาลแรงงานด้วยวาจา และศาลแรงงานจะบันทึกคำให้การของจำเลยไว้คำให้การของจำเลยไม่ว่าจะเป็นคำให้การเป็นหนังสือหรือคำให้การด้วยวาจาก็ดีต่างก็เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น หลังจากนั้นหากจำเลยประสงค์จะให้การในเรื่องหนึ่งเรื่องใดอีก จำเลยก็ชอบที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๙, ๑๘๐ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โดยจะต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลแรงงานกลางเพื่อพิจารณาสั่งตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือแล้วยื่นต่อศาลแรงงานกลางโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.