คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4664/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เป็นผู้เช่าอาคารของ จ. แล้วให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการเช่าช่วงเพื่อทำโรงแรมเมื่อ จ. ถึงแก่กรรม การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายที่ จ. ผู้ให้เช่าและห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ผู้เช่ามีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาเช่าอาคาร และการที่จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ ก็เป็นมูลกรณีจากการที่คู่กรณีในสัญญาจะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันตามข้อสัญญา ส่วนการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้สิทธิของจำเลยที่ 3ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จึงไม่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือจงใจกระทำการฉ้อโกงอันเป็นการกระทำละเมิดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะได้บรรยายถ้อยคำเป็นทำนองว่า จำเลยทั้งสี่ไม่สุจริต การกระทำฉ้อโกงโจทก์อันเป็นละเมิด แต่ฟ้องโจทก์ในตอนต้นก็บรรยายถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องตามสัญญาเช่าและสัญญาต่างตอบแทนนั้นไว้โดยละเอียดแล้วและตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ก็ขอให้จำเลยชำระเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างให้โจทก์ตามสัญญาด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาเช่นนี้ ศาลก็มีหน้าที่ต้องปรับใช้กฎหมายเรื่องผิดสัญญาหรือละเมิดให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่นำสืบกันมา การนำสืบข้อเท็จจริงของโจทก์จึงไม่ต่างกับฟ้อง จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้ ส. ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม และมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับการชำระบัญชีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259(1) และแม้คำฟ้องของโจทก์จะมีคำว่า ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ต่อท้ายชื่อของ ส.ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นการฟ้องคดีในนามของผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ คำว่า “เจ้าพนักงานบังคับคดี” หมายความว่า เจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่บังคับคดีซึ่งสังกัดอยู่ในกรมบังคับคดี มิได้มีความหมายจำกัดเฉพาะอธิบดีกรมบังคับคดี หรือผู้ที่อธิบดีกรมบังคับคดีมอบหมายเท่านั้น ดังนั้นเมื่อปรากฏว่ากองพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนราชการในกรมบังคับคดีมีหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ย่อมเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง ตามคำสั่งศาล เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างเป็นผู้เช่าอาคารพาณิชย์ 5 ชั้น ของนางจือ ลิมปิชาติมีกำหนดเวลา 20 ปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2514ค่าเช่าเดือนละ 3,350 บาท แล้วได้ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2เช่าช่วงอาคารพาณิชย์ดังกล่าวเพื่อทำโรงแรมมีกำหนดเวลา 10 ปีโดยผู้เช่าช่วงตกลงชำระค่าเช่าเดิมและค่าตอบแทนการก่อสร้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างอีก เดือนละ 27,000 บาทนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2514 เป็นต้นไป หลังจากนั้นเมื่อ ปี พ.ศ.2514 และ พ.ศ. 2517 นายวินัย วามวาณิชย์ หุ้นส่วนคนหนึ่งได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง และหุ้นส่วนคนอื่นเป็นสองคดี คดีแรกศาลพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสรร้างใช้เงินให้นายวินัย 170,716 บาท ส่วนคดีหลังศาลพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วน และตั้งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี คดีทั้งสองสำนวนนั้นถึงที่สุดแล้ว ต่อมา ปีพ.ศ. 2515 นางจือเจ้าของอาคารถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดก ครั้นปี พ.ศ. 2518 นายวินัยขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างเดือนละ27,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้เช่าช่วงจะต้องชำระให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างตามสัญญาเช่าช่วงนายฮิงจั๊ว แซ่โต๋ว ยื่นคำร้องว่า เงินดังกล่าวเป็นของตนเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง ได้โอนสิทธิการเช่าอาคารให้ตนแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2516 คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายกคำร้องของนายฮิงจั๊ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2ผู้เช่าช่วงได้ชำระเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างให้โจทก์ผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างตลอดมา จนถึงวันที่30 สิงหาคม 2525 แล้วไม่ชำระ โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ที่ 2 อ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าอาคารโรงแรมกับจำเลยที่ 3 ผู้จัดการมรดกของนางจือและชำระค่าเช่าและค่าตอบแทนการก่อสร้างให้จำเลยที่ 3 โดยตรงแล้วให้โจทก์เรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 แจ้งว่าได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2525แล้ว จำเลยที่ 4 เป็นทนายความได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ทำการฉ้อโกงห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 มิให้ได้รับเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 เดือนละ 27,000 บาท นับแต่เดือนกันยายน 2525เป็นต้นไปและจำเลยที่ 3 ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวให้มีผลเป็นการย้อนหลังโดยมิชอบ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 เดือนละ 27,000 บาท เข้าในกองทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง นับแต่เดือนกันยายน 2525 ถึงเดือนสิงหาคม 2526 เป็นเวลา 12 เดือนเป็นเงิน 324,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ 324,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างแต่ละเดือนนับแต่เดือนกันยายน 2525ถึงเดือนสิงหาคม 2526 เป็นเงิน 13,162.50 บาท และชำระค่าตอบแทนการก่อสร้างให้โจทก์อีกเดือนละ 27,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่เดือนกันยายน 2526 จนกว่าชำระเสร็จตามสัญญา
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ได้ทำสัญญาเช่าอาคารโรงแรมกับจำเลยที่ 3 ผู้จัดการมรดกของนางจือ เจ้าของอาคารเดิมโดยสุจริตเพราะจำเลยที่ 3 อ้างว่าผู้เช่าเดิมหมดสิทธิการเช่าแล้ว และมิได้สมคบกับจำเลยที่ 3 ฉ้อโกงโจทก์ ฉ้อโกงโจทก์ ฉ้อฉลหรือกระทำละเมิดดังโจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ชำระค่าเช่าให้จำเลยที่ 3เดือนละ 27,000 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน 2525 ตามสัญญาเช่าตลอดมาจนบัดนี้
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ศาลได้พิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างและตั้งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ชำระบัญชีมิได้ตั้งนายสวัสดิ์ เปาโรหิตย์ หรือผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ชำระบัญชี เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม ตามกฎหมายหมายถึงอธิบดีกรมบังคับคดีหรือผู้ที่อธิบดีกรมบังคับคดีมอบหมาย โจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีไม่มีอำนาจฟ้อง เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างได้ทำสัญญาเช่าอาคารโรงแรมกับนางจือมีกำหนด 20 ปี และได้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เช่าช่วงทำโรงแรมมีกำหนด 10 ปี ในระหว่างอายุการเช่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างผู้เช่าได้โอนสิทธิการเช่าให้นายฮิงจั๊วโดยทายาทของนางจือให้ความยินยอมแล้วต่อมานายฮิงจั๊วผิดสัญญาเช่าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างผู้เช่าเดิมทำกับนางจือ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางจือจึงได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 บอกเลิกสัญญาเช่ากับนายฮิงจั๊ว ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาไม่เป็นการละเมิด และห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างผู้เช่าเดิมไม่เสียหายเพราะมิได้เป็นผู้เช่าแล้ว จำเลยที่ 3 ได้ชี้แจงให้โจทก์ทราบและไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าย้อนหลัง จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ ในคดีที่นายวินัยขออายัดเงินค่าเช่าของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างนั้น เป็นการขออายัดชั่วคราวซึ่งจำเลยที่ 2 ลูกหนี้ของห้างดังกล่าวได้ปฏิบัติตามหมายอายัดของศาลโดยส่งเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างเดือนละ 27,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2520 จนคดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาจำเลยที่ 2 ก็ยังส่งค่าเช่าต่อไปทั้ง ๆ ที่โจทก์หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าต่อไปแล้วนับแต่คดีดังกล่าวถึงที่สุด และจำเลยที่ 2 ไม่เคยชำระเงินค่าเช่าให้โจทก์จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2525 ตามฟ้อง หากชำระให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยไม่ทราบว่าคดีที่นายวินัยเป็นโจทก์ได้ถึงที่สุดแล้ว นอกจากนั้นสัญญาเช่าช่วงระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี ได้ครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2524 แล้วห้างดังกล่าวหรือโจทก์ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าดังกล่าวจากจำเลยหลังจากนั้นอีกต่อไป
จำเลยที่ 4 ให้การว่า เป็นทนายความของจำเลยที่ 3 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนางจือ ให้บอกเลิกการเช่ากับห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง และนายฮิงจั๊วและเป็นผู้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปทำสัญญาเช่าโดยตรงกับจำเลยที่ 3 เพราะผู้เช่าทั้งสองรายดังกล่าวต่างกระทำผิดสัญญาเช่าจำเลยที่ 4 ได้กระทำในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 โดยสุจริตไม่ได้ร่วมกันทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าช่วงให้แก่โจทก์เดือนละ 27,000 บาท นับแต่เดือนกันยายน 2525 ถึงเดือนสิงหาคม 2526 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินค่าเช่าแต่ละเดือนนับแต่เวลาที่ผิดนัดชำระในแต่ละเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายนับแต่เดือนกันยายน2526 อีกเดือนละ 27,000 บาท จนกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะออกจากอาคารที่เช่าช่วง ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1เสียด้วย และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไปทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้องเพราะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ทราบข้อความในสัญญาเช่าและสัญญาเช่าช่วงว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง แต่จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีเจตนาไม่สุจริตจงใจกระทำการฉ้อโกงโจทก์ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 มาทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ขึ้นใหม่อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางจือใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับห้างหุ้นส่วนจำกัดวาณิชย์ก่อสร้างเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายที่นางจือผู้ให้เช่าและห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างผู้เช่ามีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาเช่าอาคารโรงแรม การที่จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็เป็นมูลกรณีจากการที่คู่กรณีในสัญญาจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันตามข้อสัญญา ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทนายความเมื่อได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 ให้บอกเลิกสัญญาก็ต้องถือว่าเป็นการใช้สิทธิของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีนิติสัมพันธ์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง หากจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับห้างดังกล่าวก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ผิดสัญญา เพราะฉะนั้นการที่จำเลยที่ 3 ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้ใช้สิทธิดังกล่าวของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จงใจกระทำการฉ้อโกงอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์ เพราะฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิด แต่โจทก์นำสืบว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาต่างตอบแทน จึงเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงต่างกับฟ้อง ไม่อาจรับฟังได้นั้นเห็นว่า คดีนี้แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะได้บรรยายถ้อยคำเป็นทำนองว่าจำเลยทั้งสี่ไม่สุจริต การกระทำฉ้อโกงโจทก์อันเป็นละเมิด แต่ฟ้องโจทก์ในตอนต้นก็บรรยายถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องตามสัญญาเช่าและสัญญาต่างตอบแทนนั้นไว้โดยละเอียดแล้วและตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ขอให้จำเลยชำระเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างให้โจทก์ตามสัญญาด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาเช่นนี้ ศาลก็มีหน้าที่ต้องปรับใช้กฎหมายเรื่องผิดสัญญาหรือละเมิดให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่นำสืบกันมา การนำสืบข้อเท็จจริงของโจทก์จึงหาต่างกับฟ้องไม่
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าช่วงอาคารจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างเพื่อทำโรงแรมมีกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2514 เมื่อครบกำหนดอายุการเช่าในวันที่ 1 กันยายน 2525 จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าตอบแทนการก่อสร้างให้โจทก์ต่อไป เท่ากับว่าจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในอาคารที่เช่า โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 มาทำสัญญาเช่าโดยตรงกับจำเลยที่ 3 และไม่ส่งเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างให้โจทก์อีกต่อไป ถือได้ว่า ได้มีการบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้วโดยปริยาย นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2525โจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กันอีกแต่อย่างใด และแม้จะฟังว่า การบอกเลิกสัญญาระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์ไม่มีผลย้อนหลัง แต่ก็ย่อมมีผลบังคับไปข้างหน้าในอนาคต ถือได้ว่าได้มีการบอกเลิกสัญญากันแล้วตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2526 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างจากจำเลยที่ 2นับแต่เดือนมีนาคม 2526 และหากจะฟังว่า โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าตอบแทนการก่อสร้าง โจทก์ก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 3 ซึ่งถือได้เสมือนว่าเป็นผู้รับเงินดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 แทนโจทก์โดยปริยาย เพราะไม่เป็นการยุติธรรมที่ศาลจะบังคับให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระหนี้ซ้ำสอง ดังนี้เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้ และต้องฟังว่าสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.4 ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง กับจำเลยที่ 2 ยังไม่เลิกและจำเลยที่ 2เป็นฝ่ายผิดสัญญา
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ระบุชื่อโจทก์ว่า “นายสวัสดิ์เปาโรหิตย์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรมผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้าง” เป็นข้อระบุชัดแจ้งว่าฟ้องคดีในนามผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างนั้น เห็นว่า นายสวัสดิ์ เปาโรหิตย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม และมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 125(1) แม้จะมีคำว่า ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ต่อท้ายชื่อนายสวัสดิ์ก็ไม่ได้หมายความว่า ฟ้องคดีในนามของผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ และที่จำเลยฎีกาว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้ง “เจ้าพนักงานกรมบังคับคดี” น่าจะหมายถึงอธิบดีกรมบังคับคดีหาได้หมายถึง ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ หรือนายสวัสดิ์ เปาโรหิตย์ นั้น เห็นว่า คำว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีหมายความถึงเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่บังคับคดีซึ่งสังกัดอยู่ในกรมบังคับคดีมิได้มีความหมายจำกัดแต่เฉพาะอธิบดีกรมบังคับคดีหรือผู้ที่อธิบดีกรมบังคับคดีมอบหมายดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเมื่อคดีได้ความว่ากองพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนราชการในกรมบังคับคดีมีหน้าที่ดำเนินการในฐานะผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ก็ย่อมต้องเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปว่าสิทธิการเช่าเดิมของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างที่ทำไว้กับนางจือเลิกไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิในเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่เชื่อว่ามีการโอนสิทธิการเช่าอาคารโรงแรมให้นายฮิงจั๊ว จึงต้องฟังว่าสิทธิการเดิมของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินวาณิชย์ก่อสร้างที่ทำไว้กับนางจือยังไม่เลิกไป โจทก์จึงมีสิทธิในเงินค่าตอบแทนตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share