แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นภรรยา อ.ไม่มีบุตรด้วยกันเมื่ออ. ตาย ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. จำเลยจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ อ. มาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต่อมาจำเลยไปขอรับมรดกของ อ. ในฐานะเป็นทายาทโดยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่า จำเลยเป็นทายาทของ อ. ทายาทอื่นนอกจากนี้ไม่มีทั้งที่จำเลยก็ทราบว่าอ. มีโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเป็นทายาทอีกคนหนึ่งเป็นผลให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ส่วนทรัพย์มรดกอื่น ๆ จำเลยก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ใช่ของ อ. ถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าในส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายเอี๋ยน สุวรรณพงษ์ต่อมานายเอี๋ยนถึงแก่กรรม ขณะถึงแก่กรรมนายเอี๋ยนไม่มีทายาทอื่นใดที่มีสิทธิรับมรดกนอกจากโจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมและจำเลยผู้เป็นภรรยาเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดมรดกของนายเอี๋ยนทั้งหมดจึงตกได้แก่โจทก์และจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดชลบุรีขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอี๋ยน ศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ระหว่างนายเอี๋ยนมีชีวิต ได้ประกอบการงานหาเลี้ยงชีพและบังเกิดมีทรัพย์สินต่าง ๆ อยู่ที่ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี คือ 1. ที่ดินตามตราจองเลขที่ 275 เนื้อที่ 10 ไร่ 40 ตารางวา 2. ที่ดินตามตราจองเลขที่ 430 เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา 3. ที่ดินตามโฉนดที่ 8288 เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 4 ตารางวา 4. ตึกแถว 2 ชั้น 4 คูหาเลขที่ 35 หมู่ที่ 2 5. บ้านไม้ 2 ชั้น 1 หลังไม่มีเลขบ้าน6. บ้านไม้ชายทะเล 2 หลัง เลขที่ 51 หมู่ที่ 3 รวมทรัพย์ 6 รายการมีราคา 1,371,800 บาท ซึ่งเกิดมีขึ้นภายหลังการสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างนายเอี๋ยนกับจำเลย เมื่อนายเอี๋ยนถึงแก่กรรมจึงแบ่งเป็นสินสมรสของจำเลยครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นเงินเป็นมรดกของนายเอี๋ยนตกทอดสู่ทายาทคือโจทก์และจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและเป็นทายาทโดยธรรมรู้ดีอยู่แล้วว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายเอี๋ยนได้แจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีและรับรองบัญชีเครือญาติว่าตนเป็นทายาทของนายเอี๋ยนแต่เพียงผู้เดียวและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นของตนปฏิเสธไม่ยอมแบ่งทรัพย์ลำดับ 4, 5, 6 และสังหาริมทรัพย์อื่น ๆให้แก่โจทก์ เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่แล้วว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่นจำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ดังนั้นทรัพย์มรดกของนายเอี๋ยนทั้งหมดจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมแต่เพียงผู้เดียว จึงขอบังคับให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามตราจองเลขที่ 275, 430 และที่ดินตามโฉนดที่ 8288ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยแบ่งทรัพย์ตึกแถว 2 ชั้น จำนวน 4 คูหาและบ้านไม้ 3 หลังดังกล่าวแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้เพราะเหตุสุดวิสัยหรือสภาพไม่เปิดช่องให้ทำได้ ก็ให้จำเลยชดใช้ราคาทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นเงิน 685,900 บาทให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จถ้าจำเลยไม่ยอมชดใช้ราคาทรัพย์มรดกและค่าดอกเบี้ยดังกล่าวให้เอาทรัพย์สินทั้งหมดออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทของนายเอี๋ยน จำเลยจัดการมรดกของนายเอี๋ยนโดยสุจริตและไม่เคยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ที่จำเลยรับรองบัญชีเครือญาติว่าจำเลยเป็นทายาทของนายเอี๋ยนแต่เพียงผู้เดียว เพราะในการร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอี๋ยนก็ไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือแสดงตนว่าเป็นทายาทของนายเอี๋ยน จำเลยไม่เคยทราบว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมและมีสิทธิได้รับมรดกของนายเอี๋ยน ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตราจองเลขที่ 275 เลขที่ 430และที่ดินโฉนดที่ 8288 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรีจังหวัดชลบุรี และแบ่งทรัพย์บ้านชายทะเล 2 หลัง เลขที่ 51 หมู่ที่ 3และบ้านไม่มีเลขที่หลังตึกแถว เลขที่ 35 หมู่ 2 ตำบลอ่างศิลาอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ตามฟ้องให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งและแบ่งทรัพย์ตึกแถวเลขที่ 35 หมู่ 2 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เฉพาะส่วนของนายเอี๋ยน สุวรรณพงษ์เจ้ามรดกซึ่งมีอยู่ 1 ใน 8 ให้แก่โจทก์อีกด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลยหากจำเลยไม่สามารถแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้เพราะสภาพไม่เปิดช่องให้ทำได้หรือเพราะเหตุสุดวิสัยก็ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์มรดกดังกล่าว เป็นเงิน 580,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ยอมชดใช้ราคาทรัพย์มรดกดังกล่าวก็ให้เอาทรัพย์สินทั้งสิ้นออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่งจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นภรรยาของนายเอี๋ยนสุวรรณพงษ์ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อนายเอี๋ยนถึงแก่ความตายศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอี๋ยนแล้ว จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ที่ดินของนายเอี๋ยนทั้ง 3 แปลงตามฟ้องมาเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นจึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้รับมรดก ในการนี้จำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่าจำเลยเป็นทายาทของนายเอี๋ยน ทายาทอื่นนอกจากนี้ไม่มีตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.14 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่านายเอี๋ยนได้จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ เห็นว่าฝ่ายโจทก์นอกจากจะมีพยานบุคคลคือตัวโจทก์ นางไม้ แซ่กัง มารดาโจทก์ผู้ให้ความยินยอมและนายสำเริงสุทธินันท์ ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการจดทะเบียนดังกล่าวเบิกความว่า นายเอี๋ยนได้จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมด้วยโจทก์ยังมีทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมตามเอกสารหมาย จ.21 อันเป็นเอกสารของทางราชการมายืนยันคำเบิกความของพยานดังกล่าวด้วยส่วนจำเลยที่นำสืบว่าจำเลยเป็นผู้จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเองไม่ใช่นายเอี๋ยนเป็นผู้รับนั้น เห็นว่าข้อนำสืบดังกล่าวนอกจากจะขัดกับข้อความในเอกสารหมาย จ.21 แล้ว ยังขัดกับคำให้การของจำเลยที่ว่าลายมือชื่อของจำเลยในทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอมอีกด้วยข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่อยู่กับร่องรอยไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังเป็นความจริงได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายเอี๋ยนดังข้อนำสืบของโจทก์ ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยมิได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่นอันต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นายเอี๋ยนได้จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม ตามเอกสารหมาย จ.21ดังกล่าวข้างต้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในฐานะคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมในเอกสารดังกล่าว ย่อมทราบดีว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายเอี๋ยนมีสิทธิได้รับมรดกของนายเอี๋ยนในฐานะทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเอี๋ยนได้ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่า จำเลยเป็นทายาทของนายเอี๋ยน ทายาทอื่นนอกจากนี้ไม่มี เป็นผลให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามฟ้องทั้ง 3 แปลง เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียวส่วนทรัพย์มรดกอื่นจำเลยก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ใช่ของนายเอี๋ยนถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าในส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่นจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลยตามความในมาตรา 1605 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”
พิพากษายืน