แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ห้องแถวพิพาทปลูกอยู่ในที่ดินของ พ. ตั้งแต่ก่อนจำเลยที่ 2แต่งงานกับ พ.จึงตกเป็นส่วนควบกับที่ดินดังกล่าวเมื่อพ.ตาย ย. บ. และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทได้ยื่นคำขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ พ. จำเลยที่ 2 ก็ไม่คัดค้านพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 เช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมยกที่ดินให้ย. บ. และจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ตามคำขอรับมรดก ย. บ. และจำเลยที่ 1จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ห้องแถวพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบกับที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลทั้งสามด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 วรรคสอง โดยไม่จำต้องจดทะเบียนรับมรดกห้องแถวพิพาทอีกแต่อย่างใด.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องแถวพิพาทและที่ดินที่ปลูกสร้างห้องแถวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 12386โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองซึ่งอาศัยอยู่ในห้องแถวพิพาทขนย้ายออกไปและแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจัดการแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวทางทิศตะวันออก เนื้อที่ 22 ตารางวา พร้อมห้องแถวพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองรื้อห้องแถวอีกห้องหนึ่งออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องอีก กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ900 บาท ให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนห้องแถวอีกห้องออกไปและจำเลยกับบริวารจะได้ขนย้ายออกไปจากห้องแถวพิพาทเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 12386 เป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ไม่อาจแบ่งแยกได้ ห้องแถวพิพาทที่ปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทำสัญญาซื้อขายห้องแถวพิพาทเป็นการฉ้อฉลจำเลยและจำเลยที่ 2 ได้บอกล้างโมฆียกรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 12386 ให้แก่โจทก์ 2 ใน 3 ส่วน หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์ต่อไปให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายที่เกี่ยวกับที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 12386 ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีให้โจทก์ทั้งสอง 2 ใน 3 ส่วน และห้องแถว 1 ห้อง หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ก็ให้ขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลงพร้อมห้องแถวทั้งสามไปพร้อมกัน โดยคำนวณราคาห้องแถว 3 ห้อง ตั้งแยกไว้ก่อน หากกำหนดราคากันเองไม่ได้ก็ให้ศาลชั้นต้นกำหนดราคาให้ เมื่อขายทอดตลาดแล้ว ให้แบ่งเงินค่าที่ดินและห้องแถวให้แก่เจ้าของร่วมตามส่วนของตน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 12386 ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และบนที่ดินดังกล่าวมีห้องแถวเลขที่ 375, 377 และ 379 ปลูกอยู่ จำเลยที่ 2เป็นมารดาของนายยินดี นายบุญชัย และจำเลยที่ 1 มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า ห้องแถวพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า นายยินดีพันธุ์ภาไพ และนายบุญชัย พันธุ์ภาไพ ได้ขายฝากที่ดินส่วนหนึ่งทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา และนายบุญชัยได้ขายฝากห้องพิพาทเลขที่ 377ให้แก่นางอาภรณ์ บุญศิริ นายยินดี และนายบุญชัยไม่ได้ไถ่ถอนการขายฝาก ที่ดินและห้องแถวพิพาทเลขที่ 377 จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางอาภรณ์ ต่อมานางอาภรณ์ได้ขายที่ดินพร้อมห้องแถวพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 12386 เป็นของนายเพียวเล้ง หรือมังกร เมื่อนายเพียวเล้งและจำเลยที่ 2 แต่งงานกัน นายเพียวเล้งและจำเลยที่ 2 ได้ปลูกห้องแถวเลขที่ 375, 377และ 379 ลงบนที่ดินดังกล่าว ต่อมานายเพียวเล้งได้ยกห้องแถวดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 เมื่อนายเพียวเล้งตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตกได้แก่จำเลยที่ 1 นายยินดีและนายบุญชัย ตามเอกสารหมาย ล.3, ล.4 ส่วนห้องแถวดังกล่าวยังคงเป็นของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 อาศัยอยู่ที่ห้องแถวเลขที่ 375 สำหรับห้องแถวเลขที่379 จำเลยที่ 2 ให้ผู้อื่นเช่า
พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ห้องแถวพิพาทจำเลยที่ 2กับนายเพียวเล้งร่วมกันปลูก แต่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อจำเลยที่ 2 แต่งงานกับนายเพียวเล้ง จำเลยที่ 2 ไปอยู่ที่ห้องแถวนายเพียวเล้ง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนี้ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เบิกความแตกต่างกัน และไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนัก ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และนายเพียวเล้งร่วมกันปลูกห้องแถวพิพาท ศาลฎีกาเชื่อว่าห้องแถวพิพาทปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12386 ก่อนจำเลยที่ 2 แต่งงานกับนายเพียวเล้ง และห้องแถวพิพาทปลูกเพื่ออยู่อาศัย จึงเป็นทรัพย์ส่วนควบกับที่ดินโฉนดเลขที่ 12386 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 วรรคแรก เมื่อนายเพียวเล้งตายนายยินดี นายบุญชัย และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทได้ไปยื่นคำขอรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 12386 ของนายเพียวเล้ง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยานายเพียวเล้งก็ไม่คัดค้าน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2ดังกล่าว แสดงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมยกที่ดินให้นายยินดีนายบุญชัย และจำเลยที่ 1 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ตามคำขอรับมรดก นายยินดี นายบุญชัย และจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12386ห้องแถวพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบกับที่ดินจึงตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนายยินดี นายบุญชัย และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ห้องแถวพิพาทปลูกอยู่ตามมาตรา 107 วรรคสอง นายยินดีนายบุญชัย และจำเลยที่ 1 หาจำต้องจดทะเบียนรับมรดกห้องแถวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองไม่ยื่นคำแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.