คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ เป็นกฎหมายคนละฉบับกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ทั้งมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการบัญญัติว่าผู้ใดกระทำความผิดฐานพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษเท่าใด จึงเป็นทั้งบทความผิดและบทลงโทษในมาตราเดียวกัน ส่วนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และความผิดฐานพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 80 นั้นเป็นเพียงองค์ความผิดและบทโทษส่วนหนึ่งของมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ เท่านั้น การที่โจทก์ไม่อ้างมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีโทษสูงกว่าโทษในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบ ป.อ. มาตรา 80 จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ และเป็นการเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่
ตามคำฟ้องบรรยายว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในวันและเวลาเดียวกัน ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแม้จะเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แต่เมื่อกระทำความผิดทั้งสองความผิดเป็นวันเวลาเดียวกัน ถือว่าเป็นความผิดที่ต่อเนื่องกันอยู่ เจตนาของจำเลยที่มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก็เพื่อจำหน่ายจึงเป็นเจตนาเดียวกันกับเจตนาในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ทั้งเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและที่จะจำหน่ายก็เป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยคำขอท้ายฟ้องอ้างกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 โดยมิได้อ้างมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 เป็นกรณีโจทก์ไปประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ พ.ศ.2534 เป็นกฎหมายคนละฉบับกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ทั้งมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ” ซึ่งเป็นการบัญญัติว่าผู้ใดกระทำความผิดฐานพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษเท่าใด จึงเป็นทั้งบทความผิดและบทลงโทษในมาตราเดียวกัน ส่วนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ และความผิดฐานพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 นั้น เป็นเพียงองค์ความผิดและบทลงโทษส่วนหนึ่งของมาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ เท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ไม่อ้างมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีโทษสูงกว่าโทษในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และเป็นการเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า ตามคำฟ้องบรรยายว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในวันและเวลาเดียวกัน ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแม้จะเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แต่เมื่อการกระทำความผิดทั้งสองความผิดเป็นเวลาเดียวกันถือว่าเป็นความผิดที่ต่อเนื่องกันอยู่ เจตนาของจำเลยที่มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก็เพื่อจำหน่ายจึงเป็นเจตนาเดียวกันกับเจตนาในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ทั้งเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและที่จะจำหน่ายก็เป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share