แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การฟื้นฟูกิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ แต่ปรากฏว่าลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ถึง 413,308,151.60 บาท มีผลขาดทุนสุทธิ 163,655,768.74 บาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิเกินทุนจำนวน 313,166,361.28 บาท โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแสดงความเห็นว่า บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นจำนวนเงินสูง เป็นเหตุให้สงสัยว่าบริษัทอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้ แม้ลูกหนี้จะดำเนินธุรกิจมานานโดยทำสัญญาร่วมทุนเพื่อดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อ เอเอ็ม/พีเอ็มกับวิสาหกิจ 2 แห่ง ในสถานีบริการน้ำมัน ป.ต.ท. ทั่วประเทศ โดยก่อตั้งบริษัทมาบริหารกิจการและลูกหนี้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวจำนวน 3,999,999 หุ้น แต่หุ้นดังกล่าวลูกหนี้ได้จำนำไว้กับผู้คัดค้าน และในปัจจุบันสิทธิในการใช้เครื่องหมาย เอเอ็ม/พีเอ็มก็ตกเป็นของผู้คัดค้านโดยได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของแล้ว ซึ่งผู้คัดค้านได้บอกเลิกสัญญาให้ใช้สิทธิแล้วอันเนื่องมาจากผลประกอบการที่ขาดทุนและการค้างค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ นอกจากนี้หลังจากปี 2541 เป็นต้นมาไม่ปรากฏว่าลูกหนี้จัดทำงบการเงินยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ แล้ว และไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ได้รับทุนหมุนเวียนมาจากสถาบันการเงินใด ดังนั้น จึงฟังได้ว่า ลูกหนี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจแล้ว ลูกหนี้ไม่มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/10
ย่อยาว
ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องขอเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับ จำนวน 45,801,095.89 บาท ลูกหนี้ประกอบธุรกิจประเภทร้านค้าสะดวกซื้อเครื่องหมาย เอเอ็ม/พีเอ็ม ลูกหนี้มีเจ้าหน้าที่เป็นสถาบันการเงินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งหนี้ทางการค้าที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ กับเจ้าหนี้ทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมเป็นหนี้สิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จำนวน 606,059,283.83 บาท มีสินทรัพย์รวม 292,892,922.54 บาท ลูกหนี้มีผลขาดทุนสุทธิ 163,655,768.74 บาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิเกินทุนจำนวน 313,166,361.28 บาท ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะมีสินทรัพย์ไม่พอกับหนี้สิน และลูกหนี้ขาดสภาพคล่องที่จะชำระหนี้แก่ผู้ร้องขอ ผู้ร้องขอได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ กับลูกหนี้เคยแจ้งแก่ผู้ร้องขอว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้และมีเหตุอันควรกับมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ขอศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งนายไกวัล ชุ่มวัฒนะ และหรือนายกรวิชช์ วังเสาวภาคย์ เป็นผู้ทำแผนตามที่ร้องขอด้วย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอ
ผู้ร้องขออุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ลูกหนี้มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานรวมเป็นหนี้สิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จำนวน 606,059,283.83 บาท มีสินทรัพย์รวม 292,892,922.54 บาท ลูกหนี้มีผลขาดทุนสุทธิ 163,655,768.74 บาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิเกินทุนจำนวน 313,166,361.28 บาท ตามสำเนาบัญชีงบดุลและรายงานผู้สอบบัญชีผู้ได้รับอนุญาต เอกสารหมาย ร.5 ถือได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องขอว่า กรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ เห็นว่า ในการฟื้นฟูกิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ เมื่อพิจารณาจากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของลูกหนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 ตามเอกสารหมาย ร.5 แล้ว ปรากฏว่าลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ถึง 413,308,151.60 บาท ลูกหนี้มีผลขาดทุนสุทธิ 163,655,768.74 บาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิเกินทุนจำนวน 313,166,361.28 บาท และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้แสดงความเห็นไว้ว่า “บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นจำนวนเงินสูง เป็นเหตุให้สงสัยว่าบริษัทอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้” แม้ลูกหนี้จะดำเนินธุรกิจมานานโดยทำสัญญาร่วมทุนเพื่อดำเนินกิจการร้านค้าสะดวกซื้อเอเอ็ม/พีเอ็ม กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ โดยผู้ร่วมทุนได้จัดตั้งบริษัท ปตท. มาร์ท จำกัด มาบริหารกิจการ และลูกหนี้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวจำนวน 3,999,999 หุ้น แต่หุ้นดังกล่าวลูกหนี้ได้จำนำไว้กับผู้คัดค้านตามสัญญาจำนำเอกสารหมาย ค.58 หรือ ร.13 และในปัจจุบันสิทธิในการใช้เครื่องหมายเอเอ็ม/พีเอ็ม ตกเป็นของผู้คัดค้านโดยได้รับความยินยอมจาก เอเอ็ม/พีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ตามหนังสือโอนสิทธิเอกสารหมาย ค.34 นอกจากนี้บริษัท ปตท. มาร์ท จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนและค้างชำระค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิต่อผู้คัดค้านจำนวน 20,000,000 บาท ผู้คัดค้านได้บอกเลิกสัญญาให้ใช้สิทธิตามเอกสารหมาย ค.35 แล้ว และข้อเท็จจริงปรากฏจากบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นและคำเบิกความของนายอธิคม สุระสุนทร ตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องขอว่า ลูกหนี้ได้นำทรัพย์สินของตนเองจำนวน 63 สาขา มาจำนำไว้กับผู้คัดค้านตามสัญญาจำนำหมาย ค.33 แล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระลูกหนี้มิได้ชำระหนี้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ชำระหนี้และบังคับจำนำตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบังคับจำนำ เอกสารหมาย ค.60 และ ค.61 และผู้คัดค้านดำเนินการนำหุ้นและทรัพย์สินที่จำนำไว้เป็นประกันตามสัญญาจำนำออกทำการขายทอดตลาด แต่ไม่สามารถขายทอดตลาดได้เนื่องจากผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และหลังจากปี 2541 ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ได้จัดทำงบการเงินยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ แล้ว และไม่ปรากฏว่าลูกหนี้จะได้รับเงินทุนหมุนเวียนมาจากสถาบันการเงินใด และที่ลูกหนี้อ้างว่าเจ้าหนี้บางรายอาจให้การสนับสนุนด้านการเงินหมุนเวียนนั้นก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกหนี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจแล้ว ลูกหนี้ไม่มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/10 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องขอฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่นต่อไปอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน