คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้บริหารแผนใช้อำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/41 ทวิ วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางอ้างว่าได้รับความเสียหายโดยการกระทำของผู้บริหารแผนเพื่อให้ศาลได้มีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องพอถือได้ว่าเป็นคำร้องคัดค้านการกระทำของผู้บริหารแผนตามมาตรา 90/41 ทวิ วรรคสอง ถือว่ากรณีมีข้อโต้เถียงเป็นคดี และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันคดีถึงที่สุดตามมาตรา 90/26 วรรคสอง
ผู้ร้องสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทลูกหนี้ โดยผู้ร้องเข้าไปซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สถานะดังกล่าวมีผลเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องมีส่วนในการเป็นเจ้าของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น ประโยชน์ที่ผู้ร้องจะได้รับจากเงินที่ลงทุนซื้อหุ้นไปอย่างไรย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 มาตรา 1201 และมาตรา 1269 กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนก็แต่เฉพาะเงินปันผลและจะได้รับชำระคืนเงินค่าหุ้นเมื่อมีการเลิกบริษัทและชำระบัญชีและมีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทครบถ้วนแล้ว การที่ผู้ร้องได้ร่วมลงทุนในบริษัทลูกหนี้โดยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวโดยมีสัญญาผู้ถือหุ้น (shareholders agreement) ระหว่าง ผู้ร้อง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และลูกหนี้ ซึ่งกำหนดในสัญญาให้ผู้ถือหุ้นกับบริษัทลูกหนี้จะต้องดำเนินการให้กรรมการของบริษัทลูกหนี้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นในบริษัทในการออกหุ้นแต่ละครั้งและจะไม่ออกหุ้นใหม่ให้แก่บุคคลใดๆ ซึ่งจะมีผลทำให้กรรมการถือหุ้นคิดเป็นร้อยละต่ำกว่าร้อยละที่ระบุไว้ข้างต้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นและผู้ร้อง และกำหนดให้บริษัทลูกหนี้และผู้ถือหุ้นจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง สำหรับต้นทุน ค่าใช้จ่าย ค่าสูญเสียและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ร้องอันเกี่ยวเนื่องกับการที่บริษัทและผู้ถือหุ้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดในสัญญาผู้ถือหุ้นได้ ข้อสัญญาดังกล่าวในส่วนลูกหนี้กับผู้ร้องจึงขัดต่อบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบของบริษัท รูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทอันเป็นกฎหมายที่กำหนดแบบแผนที่สังคมจะต้องปฏิบัติร่วมกัน มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก ทั้งเป็นการวางรูปแบบองค์กรทางธุรกิจเพื่อให้สาธารณชนยึดถือและปฏิบัติ ถือว่าเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาผู้ถือหุ้น (shareholders agreement) เฉพาะส่วนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้ถือหุ้น และความรับผิดอันเกิดจากการผิดสัญญาดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อข้อสัญญาในส่วนที่กำหนดให้ลูกหนี้มีหน้าที่ต่อผู้ร้องตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/41 ทวิ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัท เอ็น เอฟ เวิลด์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน หลังจากนั้นผู้บริหารแผนได้บอกเลิกสัญญาผู้ถือหุ้นที่ผู้ร้องทำกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของลูกหนี้และลูกหนี้ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางว่าสัญญาผู้ถือหุ้นที่ผู้ร้องทำกับลูกหนี้ดังกล่าวทำขึ้นเนื่องจากผู้ร้องให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกหนี้ในรูปของหุ้นเพิ่มทุนโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะดำรงสัดส่วนการถือหุ้นของกรรมการลูกหนี้ไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นของลูกหนี้ และจะไม่ออกหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ใดอันจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวลดลง การที่ผู้บริหารแผนบอกเลิกสัญญาผู้ถือหุ้นดังกล่าวทำให้ผู้ร้องเสียหายเนื่องจากเมื่อมีการลดทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้วทำให้เงินที่ผู้ร้องให้การสนับสนุนลูกหนี้ในรูปของหุ้นเพิ่มทุนจะลดลงจาก 3,048,714 หุ้น เหลือเพียง 771,424.5 หุ้น ทั้งยังทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกรรมการลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นของลูกหนี้ ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องโดยให้ผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงิน 113,195,030 บาท ตามคำขอรับชำระหนี้ที่แนบมาด้วย ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้น แม้จะได้รับความเสียหายจากการลดทุนก็เป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 ไม่อาจมาขอรับชำระหนี้ได้ และมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้าน การที่ผู้บริหารแผนบอกเลิกสัญญาผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นการไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญา ทำให้ผู้ร้องเสียหาย ผู้ร้องชอบที่จะขอรับชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และให้ผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นแม้จะได้รับความเสียหายจากการลดทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นจะต้องรับผิด ไม่อาจมาขอรับชำระหนี้ได้
ผู้บริหารแผนยื่นคำแถลง ขอให้ยกคำร้องคัดค้าน
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง ส่วนค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาตามความเหมาะสม เมื่อกำหนดให้แล้วก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการขอรับชำระหนี้ต่อไป เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำต้องมีคำสั่งในเรื่องนี้ก่อน คำขออื่นให้ยก
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้บริหารแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้บริหารแผนว่า คำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้วหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาผู้ถือหุ้นจากผู้บริหารแผน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2544 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้คุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องมิให้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้บริหารแผน โดยขอให้ผู้ร้องมีสิทธิในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นพร้อมกับแนบคำขอรับชำระหนี้มาด้วย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้บริหารแผนยื่นคำคัดค้านว่า การกระทำของผู้บริหารแผนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ผู้บริหารแผนใช้อำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/41 ทวิ วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางอ้างว่าได้รับความเสียหายโดยการกระทำของผู้บริหารแผนเพื่อให้ศาลได้มีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง พอถือได้ว่าเป็นคำร้องคัดค้านการกระทำของผู้บริหารแผนตามมาตรา 90/41 ทวิ วรรคสอง ถือว่ากรณีมีข้อโต้เถียงเป็นคดี และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2544 ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ภายใน 1 เดือน นับจากวันคดีถึงที่สุดตามมาตรา 90/26 วรรคสอง เมื่อผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 จึงเป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา อุทธรณ์ของผู้บริหารแผนข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้เพียงใด เห็นว่า ในการขอรับชำระหนี้ในค่าเสียหายเนื่องจากผู้บริหารแผนไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้และบุคคลภายนอกต่างมีสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน เช่นนี้ สัญญาที่จะก่อให้เกิดหน้าที่ดังกล่าวแก่ลูกหนี้ได้ ข้อสัญญาดังกล่าวจะต้องสมบูรณ์และมีผลบังคับตามกฎหมาย กรณีจำต้องวินิจฉัยก่อนว่า ข้อสัญญาในส่วนที่กำหนดให้ลูกหนี้มีหน้าที่ต่อผู้ร้องนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ที่ผู้ร้องได้สนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทลูกหนี้โดยผู้ร้องเข้าไปซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้น สถานะดังกล่าวมีผลเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องมีส่วนในการเป็นเจ้าของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น ส่วนที่ว่าผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากเงินที่ลงทุนซื้อหุ้นไปอย่างไร ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1200 มาตรา 1201 และมาตรา 1269 อันสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนก็แต่เฉพาะเงินปันผลและจะได้รับชำระคืนเงินค่าหุ้นเมื่อมีการเลิกบริษัทและชำระบัญชีและมีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทครบถ้วนแล้ว การที่ผู้ร้องได้ร่วมลงทุนในบริษัทลูกหนี้โดยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวโดยมีสัญญาผู้ถือหุ้น (shareholders agreement) ระหว่าง ผู้ร้อง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และลูกหนี้ ซึ่งสัญญาข้อ 1 (1) (3) กำหนดว่า “ผู้ถือหุ้นกับบริษัทจะดำเนินการให้กรรมการของบริษัทถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นในบริษัทในการออกหุ้นแต่ละครั้งและจะไม่ออกหุ้นใหม่ของบริษัทให้แก่บุคคลใดๆ ซึ่งจะมีผลทำให้กรรมการถือหุ้นคิดเป็นร้อยละต่ำกว่าร้อยละที่ระบุไว้ข้างต้น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นและผู้ร้อง” ข้อ 3 กำหนดว่า “บริษัทและผู้ถือหุ้นจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ลงทุน สำหรับต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าสูญเสียและค่าเสียหาย (รวมทั้งค่าธรรมเนียมทางกฎหมายที่สมเหตุสมผล) ที่เกิดขึ้นต่อผู้ลงทุนอันเกี่ยวเนื่องกับการที่บริษัทและผู้ถือหุ้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ได้” ข้อสัญญาดังกล่าวในส่วนลูกหนี้กับผู้ร้องจึงขัดต่อบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบของบริษัทจำกัด รูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทอันเป็นกฎหมายที่กำหนดแบบแผนที่สังคมจะต้องปฏิบัติร่วมกันมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก ทั้งเป็นการวางรูปแบบองค์กรทางธุรกิจเพื่อให้สาธารณชนยึดถือและปฏิบัติ ถือว่าเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช่นนี้ สัญญาผู้ถือหุ้น (shareholders agreement) เฉพาะส่วนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้กับผู้ถือหุ้น และความรับผิดอันเกิดจากการผิดสัญญาดังกล่าวตามสัญญาข้อ 1 (1) (3) และข้อ 3 จึงขัดกับกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นอันเสียเปล่า หามีผลบังคับแต่อย่างใดไม่ เช่นนี้ ผู้ร้องจึงหาได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายตามมาตรา 90/41 ทวิ แต่อย่างใด”
พิพากษากลับ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเสียทั้งสิ้น

Share