คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรย้อนทางลงทางด่วนขึ้นไปในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยไปชนรถยนต์ของผู้เสียหายและทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 157 เมื่อเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๕ ผ – ๒๘๙๕ กรุงเทพมหานคร ไปตามทางถนนสุขุมวิท ๕๐ในขณะเมาสุรา อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์เมื่อขับไปถึงทางลงทางด่วนสายรามอินทราอาจณรงค์ จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูให้ดีเสียก่อนว่า ทางลงทางด่วนดังกล่าวเป็นเส้นทางสำหรับลงทางด่วนเข้าถนนสุขุมวิท ๕๐ มิใช่ทางขึ้นทางด่วนจากถนนสุขุมวิท ๕๐ ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวย้อนเส้นทางขึ้นทางลงของทางด่วนดังกล่าว ขณะเดียวกันมีรถยนต์หมายเลขทะเบียน๔ จ – ๑๑๓๗ กรุงเทพมหานคร ซึ่งพันตำรวจโทมนต์ชัย วรพันธ์ ผู้เสียหาย เป็นผู้ขับขับมาจากทางด่วนตามทิศทางเครื่องหมายจราจร จึงเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนกับรถยนต์ที่ผู้เสียหายขับบนทางลงทางด่วนดังกล่าว ทำให้รถยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐, ๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๒) (๔), ๑๕๗, ๑๖๐
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐, ๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๒) (๔),๑๕๗, ๑๖๐ เรียงกระทงลงโทษ ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๒ เดือน และฐานขับรถในขณะเมาสุรา จำคุก๑ เดือน รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๓ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก ๑ เดือน ๑๕ วัน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่โดยจำเลยอ้างว่า การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทอันเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและก่อให้เกิดผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ของจำเลยไปชนรถยนต์ของผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามมาตรา ๙๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น เห็นว่าการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๒), ๑๖๐ วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรย้อนทางลงทางด่วนขึ้นไปในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยไปชนรถยนต์ของผู้เสียหายและทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน และเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว และเห็นว่าสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษให้แก่จำเลยอันจะเป็นผลดีกว่าการลงโทษจำคุกในระยะสั้น แต่เพื่อให้จำเลยระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องความประพฤติเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติและลงโทษปรับเพื่อให้รู้สำนึกถึงการถูกลงโทษด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๒) (๔), ๑๕๗,๑๖๐ วรรคสาม เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก๒ เดือน ปรับ ๔,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ เดือน และปรับ ๒,๐๐๐บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี และให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ สำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระโขนงทุก ๓ เดือนเป็นเวลา ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐.
(ประสพสุข บุญเดช – สุนทร สิทธิเวชวิจิตร – สุเมธ ตังคจิวางกูร) ลัดดา พ/ทศาลแขวงพระโขนง นายบัณฑิต สีอุไรย์ศาลอุทธรณ์ นายณรงค์พล ทองจีน
นายมนตรี จิตร์วิวัฒน์ – ตรวจ
นายบุญส่ง โพธิ์พุทธชัย – ผู้ช่วยผู้พิพากษาฯ
นายเอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์ – ย่อ
รุจิรา พิมพ์/ทาน

Share