คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นอยู่ในเอกสารที่โจทก์และจำเลยอ้างเป็นพยาน และศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีได้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยได้ เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่ยุติ เพราะยังจะต้องมีการดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้เสร็จก่อนแล้วจึงจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉะนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์หรือจำเลยย่อมมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงเบื้องต้นที่ได้กระทำกันมาแล้วได้ และจะถือเอาข้อตกลงนั้นมีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหาได้ไม่ แม้จะมีการชำระเงินมัดจำกันแล้วโจทก์ก็มีสิทธิให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(1) การฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงฟ้องได้ภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 การฟ้องเรียกเงินมัดจำคืน ซึ่งไม่ใช่เป็นกรณีเลิกสัญญา ตามป.พ.พ. มาตรา 391 การชำระดอกเบี้ยจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขับไล่จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่7017 ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 208/2524 ในระหว่างพิจารณาโจทก์จำเลยตกลงกันว่า โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนของโฉนดเลขที่ 7017 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 200 ตารางวา ในราคาตารางวาละ7,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ต่อมาโจทก์ได้ชำระราคาที่ดินเป็นเช็คจำนวน500,000 บาท ให้แก่จำเลยปรากฏตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แต่จำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้เพราะจำนวนเนื้อที่ดินไม่ครบตามที่ตกลงกัน ในที่สุดตกลงกันไม่ได้ศาลสอบคู่ความแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย โจทก์อุทธรณ์และฎีกาศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อข้อตกลงถูกยกเลิกคู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ขอให้จำเลยชำระต้นเงินและค่าเสียหายจำนวน 965,111 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่6 กันยายน 2525 และโจทก์จำเลยได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวต่อไปตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2525 การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์จำเลยยังมิได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเงินจำนวน 500,000 บาทที่จำเลยรับไว้จากโจทก์จึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406โจทก์รู้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่7 กรกฎาคม 2529 เกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความอย่างไรก็ตามจำเลยรับเงินดังกล่าวไว้โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ หากจะเรียกได้ก็เรียกได้ไม่เกินอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด แต่โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลย จำเลยจึงยังไม่ผิดนัด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 กันยายน 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นอยู่ในเอกสารที่โจทก์และจำเลยอ้างเป็นพยาน ซึ่งจำเลยกล่าวอ้างในฎีกาคือเอกสารในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 95/2523 หมายเลขแดงที่ 208/2524 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ได้ขอคัดโดยถ่ายสำเนาส่งตามที่ต้องการตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว และเอกสารที่จำเลยอ้างเป็นพยาน จำเลยก็ได้คัดโดยถ่ายสำเนาส่งไว้แล้วเช่นเดียวกัน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องนำสำนวนคดีดังกล่าวมาผูกติดกับสำนวนคดีนี้ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีได้แล้วศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยได้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว… ได้ความว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 95/2523 หมายเลขแดงที่ 208/2524 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาวินิจฉัยถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 20 สิงหาคม 2523 และวันที่ 11 กันยายน 2523 ว่าข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากโจทก์ (จำเลยคดีนี้) และจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีเจตนาที่จะประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ และการประนีประนอมยอมความยังหายุติลงไม่ เพราะยังต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินกันอยู่อีก เมื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จแล้วจึงจะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉะนั้นการที่โจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเช่นนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้วเสร็จ โจทก์หรือจำเลยย่อมมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงเบื้องต้นที่ได้กระทำกันมาแล้วเสียได้ และจะถือเอาข้อตกลงนั้นว่ามีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหาได้ไม่ ถึงแม้จะได้มีการชำระเงินมัดจำกันแล้วก็ตาม จำเลย (โจทก์คดีนี้) ก็ย่อมมีสิทธิให้โจทก์ (จำเลยคดีนี้)คืนเงินมัดจำให้จำเลยได้เช่นกัน ดังนี้ เห็นว่า เมื่อจำเลยได้ยกเลิกข้อตกลง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาท ที่ชำระให้แก่จำเลยไว้คืนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(1)และมิใช่เป็นกรณีเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 ดังที่จำเลยอ้าง… โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนจากจำเลยไม่ใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 419 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจำต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี แต่กรณีเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินมัดจำคืนไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงฟ้องได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ… คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำคืน ซึ่งไม่ใช่เป็นกรณีเลิกสัญญาตามมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การชำระดอกเบี้ยจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 391 วรรคสองตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์บรรยายฟ้องตอนท้ายว่า โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยคืนเงินจำเลยเพิกเฉย โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม จำเลยไม่ยอมรับหนังสือดังกล่าวจำเลยยังไม่คืนเงิน ตรวจดูแล้วท้ายฟ้องโจทก์ไม่ได้แนบหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินและก็ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยไม่ยอมรับหนังสือซึ่งส่งถึงแล้ววันใด และคดีนี้ก็ไม่มีการสืบพยาน ดังนั้นก่อนฟ้องจึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยผิดนัดเมื่อใด แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ทวงถามจำเลยให้คืนเงินแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทราบว่าโจทก์ทวงถามตั้งแต่วันฟ้อง และถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 กรกฎาคม 2529) จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7กรกฎาคม 2529) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share