คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับว่าได้เช่าอาคารพิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยจะกลับมาเถียงสิทธิของโจทก์ผู้ให้เช่าว่าไม่มีอำนาจให้เช่าและไม่มีอำนาจฟ้องไม่ได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด จำเลยก็ต้องออกไปจากอาคารพิพาท
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากอาคารที่เช่า จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยทำสัญญาเช่าโดยถูกโจทก์หลอกลวงเท่านั้น จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ ที่จำเลยฎีกาประเด็นดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากอาคารพิพาทซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องให้เช่าได้เดือนละ 150 บาท และเรียกค่าตอบแทน 214,000 บาท กำหนดเวลาเช่า 10 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่กับเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยมาด้วยกัน ดังนี้ ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่จำเลย เมื่อคิดเฉลี่ยค่าเช่าแล้วไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท ที่จำเลยอุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายว่ามีเพียงใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่ามิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเช่าอาคารเลขที่ ๓๗๙ กำหนดเวลา ๑ ปีครบกำหนด โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าอีกต่อไป จึงได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่า แต่จำเลยกับบริวารไม่ยอมออกไปจากอาคารที่เช่า จึงขอให้บังคับจำเลยกับบริวารขนย้ายออกไปจากอาคารที่เช่าและส่งมอบการครอบครองอาคารที่เช่าคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ครบกำหนดการเช่าถึงวันฟ้องในอัตราวันละ ๕,๐๐๐ บาทตามสัญญา แต่โจทก์ขอคิดในอัตราวันละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๓๔๗,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเป็นเงินวันละ ๑,๐๐๐ บาท จนกว่าจำเลยกับบริวารจะขนย้ายออกไปและส่งมอบการครอบครองอาคารเช่าคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและอาคารที่พิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทหลอกลวงให้จำเลยส่งทรัพย์สินให้โดยอ้างว่าเพื่อการศึกษาและให้เซ็นชื่อในสัญญาเช่าทั้งที่โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินและอาคารพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ สำหรับค่าปรับวันละ ๕,๐๐๐ บาทนั้น ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดินพ.ศ.๒๕๐๔ และกำหนดไว้สูงเกินกว่าเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกไปจากอาคารพิพาทเลขที่ ๓๗๙และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๓๔,๗๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยกับให้ใช้ค่าเสียหายอีกวันละ ๑๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปและส่งมอบการครอบครองอาคารพิพาทให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ ข้อนี้จำเลยยอมรับว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าอาคารเลขที่ ๓๗๙ กับโจทก์ ระยะเวลาเช่า ๑๐ ปี วันเริ่มเช่า ๗ มกราคม ๒๕๑๗ วันสิ้นสุด ๖ มกราคม ๒๕๒๗ อัตราค่าเช่าเดือนละ๑๕๐ บาท ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ๘๐,๐๐๐ บาท เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดจำเลยได้ต่อสัญญาเช่าอีก๑ ปี โดยเสียเงินค่าตอบแทน ๑๘,๘๐๐ บาท ค่าเช่าเดือนละ ๑๕๐ บาท ต่อมาสัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์ให้จำเลยไปทำสัญญาเช่าต่ออีกมีกำหนด ๑๐ ปี โดยเรียกค่าตอบแทน ๒๑๔,๐๐๐ บาทค่าเช่าเดือนละ ๑๕๐ บาท จำเลยเห็นว่า โจทก์เรียกค่าตอบแทนสูงไป ประกอบกับที่ดินที่ตั้งอาคารพิพาทเป็นของกรมธนารักษ์ จำเลยจึงมิได้ไปทำสัญญาเช่ากับโจทก์ เห็นว่า เมื่อจำเลยรับว่าได้เช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ จำเลยจะกลับมาเถียงสิทธิของโจทก์ผู้ให้เช่าว่าไม่มีอำนาจให้เช่าและไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ฟังไม่ขึ้น จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยครบกำหนดแล้ว จำเลยจึงต้องออกไปจากอาคารพิพาท
สำหรับฎีกาข้อสองที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยเข้าใจผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙ นั้น เห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงว่า จำเลยทำสัญญาเช่าโดยถูกโจทก์หลอกลวง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๓๔๗,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเป็นเงินวันละ๑,๐๐๐ บาท จนกว่าจำเลยกับบริวารจะขนย้ายออกไปและส่งมอบการครอบครองอาคารพิพาทคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายนี้มาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่น คงเรียกมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาทเท่านั้น เมื่อได้ความว่าในขณะยื่นคำฟ้องโจทก์จะให้เช่าอาคารพิพาทเดือนละ ๑๕๐ บาท โดยเรียกค่าตอบแทน ๒๑๔,๐๐๐ บาท ในการให้เช่ามีกำหนด ๑๐ ปีด้วยก็ตาม แต่เมื่อเฉลี่ยแล้วค่าเช่าก็ยังไม่เกินเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ การที่จำเลยยกปัญหาข้อนี้ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ต้องถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share