แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ร. เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทำการแทนโจทก์ในประเทศไทยรู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 และ 70 ประกอบมาตรา 30 และ 31 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ส่วนการตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่ซื้อมา ก็เพื่อให้ได้หลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ในการฟ้องคดี ไม่ใช่เพื่อให้รู้ถึงการกระทำความผิดเมื่อ ร. มีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แทนโจทก์ เช่นเดียวกับผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของโจทก์ ร. ก็ดี ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของโจทก์ก็ดีต้องดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องร้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่ ร. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นครั้งแรกแม้โจทก์จะเพิ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 ก็ไม่ทำให้อายุความขยายออกไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสอง มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 มาตรา 31 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และขอให้สั่งจ่ายค่าปรับที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ปัญหานี้โจทก์อุทธรณ์ว่านายรุทร นพคุณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่ใช่ผู้แทนของโจทก์เป็นเพียงตัวแทนเท่านั้น การที่นายรุทรรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่ถือว่าโจทก์รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดด้วย โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายรุทรเป็นตัวแทนและผู้รับมอบอำนาจเพื่อโจทก์และในนามของโจทก์ในประเทศไทยในอันที่จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อยับยั้งและจำกัดการเลียนแบบการละเมิดและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับชื่อทางการค้า ลิขสิทธิ์สิทธิบัตร และอื่น ๆ ที่ใช้เกี่ยวกับการค้าของโจทก์ ให้ป้องกันการค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้มีอำนาจร้องทุกข์ฟ้องร้องดำเนินคดีและต่อสู้คดีในนามของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 เอกสารหมาย จ.1 นายรุทรจึงมีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องร้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในประเทศไทยในนามของโจทก์ได้ตามกฎหมายโจทก์มีนายฟิลิป พาสโค นักสืบเอกชนของบริษัทไรท์ แอสโซซิเอท (ประเทศไทย) จำกัดเบิกความเป็นพยานว่า นายฟิลิป พาสโค ไปติดต่อขอซื้อคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมMICROSOFT WINDOW 98 และ MICROSFT OFFICE 97 มาจากจำเลยที่ 1 พนักงานขายของจำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบเอกสารที่แสดงว่าเป็นโปรแกรมที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แก่นายฟิลิป พาสโค นายฟิลิป พาสโค เข้าใจทันทีว่าเป็นโปรแกรมที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อนำคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาไปมอบให้บริษัทไรท์ แอสโซซิเอท(ประเทศไทย) จำกัด นายฟิลิป พาสโค แจ้งให้พนักงานของบริษัททราบด้วยว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อมาด้วยเงินของบริษัทโรท์ แอสโซซิเอท (ประเทศไทย) จำกัดหลังจากนั้นนายสตีเวน ไรท์ ผู้จัดการบริษัทไรท์ แอสโซซิเอท (ประเทศไทย) จำกัดได้ส่งมอบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวพร้อมรายงานเกี่ยวกับการล่อซื้อคอมพิวเตอร์ให้นายรุทรทราบเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 ตามเอกสารหมาย จ.11 ในรายงานการล่อซื้อคอมพิวเตอร์ฉบับนี้มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า นายฟิลิป พาสโค ซื้อคอมพิวเตอร์มาจากพนักงานขายสินค้าของบริษัทคอมพิวเตอร์ ไกด์ จำกัด จำเลยที่ 1 มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์WINDOW 98 และ OFFICE 97 ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และพนักงานขายไม่ได้มอบคู่มือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรม ใบรับประกันความถูกต้องและสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแก่นายฟิลิป พาสโค นอกจากนี้บิลเงินสดค่าวางมัดจำและบิลเงินสดค่าซื้อคอมพิวเตอร์ในรายงานดังกล่าวมีชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 พร้อมที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ด้วยถุงพลาสติกและกล่องกระดาษที่บรรจุคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ก็มีชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน นายรุทรเบิกความยอมรับว่าได้อ่านรายงานเกี่ยวกับการล่อซื้อคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.11 หลังจากได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 ถึง 2 วันอ่านแล้วเชื่อว่านายฟิลิป พาสโค ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาจากจำเลยที่ 1 จริง และสาเหตุที่รู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ก็เพราะนอกจากจะไม่มีคู่มือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรม สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแล้ว โจทก์ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้โปรแกรมดังกล่าวติดตั้งให้แก่บุคคลอื่นดังนั้น จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่านายรุทรซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทำการแทนโจทก์ในประเทศไทยได้รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีนี้แล้วหลังจากอ่านรายงานการล่อซื้อคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ส่วนการตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่ซื้อมาโดยนายสรวุฒิ ปัทมินทร์ ก็เพื่อให้ได้หลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการฟ้องคดี ไม่ใช่เพื่อให้รู้ถึงการกระทำความผิด ทั้งนี้เพราะนายสรวุฒิเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่านายรุทรเป็นคนติดต่อให้พยานมาตรวจสอบคอมพิวเตอร์เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2541 โดยนายรุทรคิดว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่แล้ว เมื่อนายรุทรมีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในประเทศไทยแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.1 เช่นเดียวกับผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของโจทก์ นายรุทรก็ดี ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของโจทก์ก็ดี ต้องดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องร้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ 19พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่นายรุทรรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นครั้งแรก แม้โจทก์จะอ้างว่าเพิ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 15มกราคม 2542 ก็ไม่ทำให้อายุความขยายออกไป เมื่อโจทก์นำคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้มาฟ้องเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน