แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติสถานพยาบาลฯ ได้บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลกับฐานดำเนินการสถานพยาบาลไว้แยกจากกัน คือ ห้ามมิให้บุคคลใดประกอบกิจการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กรณีหนึ่ง และห้ามมิให้บุคคลใดดำเนินการสถานพยาบาลเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง โดยหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตในสองกรณีก็แตกต่างกัน แสดงให้เห็นได้ชัดว่า ในแต่ละฐานความผิดดังกล่าวต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำประกอบด้วยเจตนาต่างกัน สามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ แม้จะมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 57 ด้วยกัน หากมีการกระทำฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษเป็นแต่ละกรณีไปการกระทำของจำเลยทั้งสองกรณีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541มาตรา 4, 16, 24, 57 พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์พ.ศ. 2528 มาตรา 27, 46 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 24 วรรคหนึ่ง, 57 พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 มาตรา 27, 46 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลกับฐานดำเนินการสถานพยาบาลเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทเดียวกัน ให้ลงโทษฐานประกอบกิจการสถานพยาบาล จำคุก 2 เดือน และฐานประกอบวิชาชีพการพยาบาลโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลเพื่อทำการตรวจรักษาผู้ป่วยโดยกระทำเป็นปกติธุระ และไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาล และจำเลยประกอบวิชาชีพการพยาบาลโดยทำการตรวจโรคบำบัดโรคและทำการฉีดยารักษาโรคเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากสภาการพยาบาลนั้น เป็นการยากแก่ทางราชการที่จะทำการควบคุมดูแลการประกอบกิจการสถานพยาบาลของจำเลย และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของผู้ที่ไปใช้บริการในสถานพยาบาลดังกล่าวได้ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง นอกจากนี้ปรากฏจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยทราบแล้วไม่คัดค้านว่า จำเลยเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่งตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3531/2538 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลได้พิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปี แต่จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก แสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่เข็ดหลาบและไม่ใส่ใจในโอกาสที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยอีกครั้ง และโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมานั้นก็นับว่าสถานเบาเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลกับฐานดำเนินการสถานพยาบาลเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกัน ให้ลงโทษฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลนั้น ไม่ถูกต้องเพราะพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดในกรณีดังกล่าวไว้แยกจากกัน คือ ห้ามมิให้บุคคลใดประกอบกิจการสถานพยาบาลเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กรณีหนึ่ง และห้ามมิให้บุคคลใดดำเนินการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง โดยหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตในสองกรณีก็แตกต่างกัน แสดงให้เห็นได้ชัดว่าในแต่ละฐานความผิดดังกล่าวต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำประกอบด้วยเจตนาแตกต่างกัน สามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ แม้จะมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 57 ด้วยกัน หากมีการกระทำฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษเป็นแต่ละกรณีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองกรณีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวไม่ แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็เห็นสมควรปรับบทลงโทษเสียให้ถูกต้อง โดยไม่แก้โทษที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 57 กระทงหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง, 57อีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3