คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3378/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยที่ 5 จัดหามีดของกลางมาใช้ปล้นทรัพย์แต่โจทก์มีคำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 4 ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 5เป็นผู้จัดหาอาวุธมีดมาใช้ในการปล้นทรัพย์ ซึ่งแม้คำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 4 จะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิด แต่คำซัดทอดดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 4 ไปยังผู้อื่น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 5 นั้นก็เป็นถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง โดยให้การในรายละเอียดถึงเหตุการณ์การกระทำผิดตั้งแต่วางแผนกระทำผิดจนกระทั่งหลังกระทำผิดแล้วตกลงแบ่งปันทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ให้การตามความจริงด้วยความสมัครใจจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้จัดหามีดมาใช้ในการปล้นทรัพย์คดีนี้อันเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี,83 และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงิน 24,816 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี จำเลยที่ 4และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 21 ปี จำเลยที่ 4 อายุ 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 7 ปี จำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 14 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 14 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันคืนเงิน 24,816 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี 1 เดือน10 วัน และจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 6 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติเป็นเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ คนร้ายหลายคนได้ร่วมกันปล้นเอาเงินจำนวน 24,816 บาท ที่ได้จากการขายน้ำมันตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายของนายจิตติ แก้วเกลี้ยง ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของนายบ่าว วงค์จนานุกูล ผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยใช้อาวุธปืน มีดและรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำผิด คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ว่า จำเลยทั้งสามดังกล่าวกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้นโจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกาขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 ทำหน้าที่ขายน้ำมันอยู่ในสถานีบริการน้ำมันที่เกิดเหตุ เห็นมีคนขับรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดที่บริเวณหัวจ่ายน้ำมัน ผู้เสียหายที่ 2 เดินไปหาเพื่อจะขายน้ำมันให้ เห็นจำเลยที่ 1 วิ่งเข้ามาล็อกคอผู้เสียหายที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 วิ่งไปที่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนจี้หลังผู้เสียหายที่ 2 ดันตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปชนหัวฉีดจ่ายน้ำมัน แล้วเอาเงินค่าขายน้ำมันประมาณ 3,000บาทที่อยู่ในกระเป๋าคาดเอวของผู้เสียหายที่ 2 ไปจากนั้นได้ผลักและใช้อาวุธปืนตีท้ายทอยผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1 ครั้ง แต่ผู้เสียหายที่ 2 หลบ จึงถูกตีไม่แรงนัก แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 วิ่งมาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่มีจำเลยที่ 2 ขึ้นคร่อมอยู่ขับหลบหนีไป เห็นว่าบริเวณสถานีบริการน้ำมันที่เกิดเหตุเปิดไฟฟ้าส่องสว่าง ผู้เสียหายที่ 2 ได้เห็นจำเลยที่ 1 ในระยะประชิดตอนที่เข้ามาล็อกคอผู้เสียหายที่ 2 และเห็นจำเลยที่ 3 ในระยะใกล้ประมาณ1 เมตร ย่อมมีโอกาสเห็นและจำหน้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ประกอบกับพนักงานสอบสวนพาผู้เสียหายที่ 2 ไปชี้ตัวคนร้ายที่สถานีตำรวจผู้เสียหายที่ 2 ก็ชี้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ถูกต้อง อีกทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน พร้อมทั้งนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ให้การรับสารภาพโดยละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาสถานที่ตลอดจนบุคคลที่ร่วมกระทำผิดสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพตามความจริงด้วยความสมัครใจ พยานฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมปล้นทรัพย์คดีนี้ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 5 ที่ว่าโจทก์ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนการปล้นทรัพย์รายนี้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษานั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยที่ 5 จัดหามีดของกลางมาใช้ปล้นทรัพย์คดีนี้ แต่โจทก์มีคำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 4 ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดหาอาวุธมีดมาใช้ในการปล้นทรัพย์คดีนี้ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายร่อหมาน บุตรหมันว่า ตนเคยให้จำเลยที่ 5 ยืมมีดยาวและปลอกมีดของกลางคดีนี้ไป ต่อมาจำเลยที่ 5 เอาเฉพาะตัวมีดมาคืนให้ตน อ้างว่าปลอกมีดสูญหายไป อีกทั้งจำเลยที่ 5 ยังให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ได้มานั่งรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มที่ร้านย้อนอดีต 2 ของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ได้พูดชักชวนกันไปปล้นทรัพย์ที่สถานีบริการน้ำมันที่จำเลยที่ 4 ทำงานอยู่ครั้นเวลาประมาณ 1 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ออกไปทำงานที่สถานีบริการน้ำมัน อีกไม่นานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้นั่งรถจักรยานยนต์ขับติดตามไป จำเลยที่ 3 ได้เอามีดยาวพร้อมปลอกมีดที่จำเลยที่ 5 ยืมมาจากนายร่อหมานไป หลังจากปล้นทรัพย์ 2 ถึง 3 วัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ได้ตกลงแบ่งปันเงินที่ปล้นมาได้ให้แก่จำเลยที่ 5 จำนวน 1,000 บาท เห็นว่า แม้คำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 4 จะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิด แต่คำซัดทอดดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 4 ไปยังผู้อื่น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 5 นั้น เป็นถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง โดยให้การในรายละเอียดถึงเหตุการณ์การกระทำผิดตั้งแต่วางแผนกระทำผิดจนกระทั่งหลังกระทำผิดแล้วตกลงแบ่งปันทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ให้การตามความจริงด้วยความสมัครใจ จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ได้จัดหามีดมาใช้ในการปล้นทรัพย์คดีนี้ อันเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการกระทำผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 มานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share